ฤดูฝน มีอีกชื่อว่า ฤดูมรสุม
มรสุม แปลว่า ลมประจำปี ถึงเวลาพัดผ่านเข้ามาทุกปี ประกอบด้วย
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียขึ้นไป พาดผ่านภาคใต้ขึ้นภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ จะเป็นลมที่หอบเอาฝนมา จึงเรียกฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่พฤศจิกายน-มกราคม หอบเอาฝนและความหนาวจากทะเลจีนใต้แผ่ลงมา ถ้าเป็นภาคเหนือ อีสาน และกลาง จะได้รับอิทธิพลลมหนาว ส่วนภาคใต้พลอยได้รับอิทธิพลฝน
ระหว่างฤดูฝนมีช่องโหว่ที่เรียก “ระยะฝนทิ้งช่วง” คั่นอยู่ด้วย
ต้นฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม-กลางมิถุนายน เริ่มมีฝนตกลงมา พอถึงช่วงกลางมิถุนายน-กลางกรกฎาคม มักเป็นระยะฝนทิ้งช่วง ไม่มีฝนตกหรือตกน้อยมาก ก่อนจะตกหนักช่วง 3 เดือนสุดท้ายของฤดู คือสิงหาคม-ตุลาคม อาจมีน้ำหลากท่วมได้
แต่ก่อนระยะฝนทิ้งช่วงไม่ยาวนานนัก หลังๆ นอกจากปริมาณฝนช่วงปกติน้อยลงแล้ว ระยะฝนทิ้งช่วงอาจนานขึ้น เริ่มเร็วขึ้น จบช้าลง เป็น 1.5-2 เดือนก็เป็นได้ ทั้งร้อนทั้งขาดแคลนน้ำ เปรียบเหมือนฤดูแล้งกลางฤดูฝน เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 อย่างไรอย่างนั้น
“ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงสิ้นระยะฝนทิ้งช่วง ราวๆ 3 เดือนเศษนี้ เป็นช่วงที่เราต้องยกการ์ดสูง ต้นฤดูฝนต้องเก็บน้ำทุกหยดไว้ในแปลงไร่นา คู คลอง ขณะเดียวกันเก็บน้ำทุกหยดในเขื่อน เพื่อสะสมเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ในระยะฝนทิ้งช่วง” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาหนักคือน้ำตุนเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 2562/2563 ที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน 18 พฤษภาคม 2563 ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้องบริหารจัดการน้ำต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บไว้ใช้ในเวลาคับขันระยะฝนทิ้งช่วงที่พืชผลที่ปลูกไปแล้วอาจเสียหายได้ หากไม่มีน้ำคอยสนับสนุน
“สภาพน้ำฝนช่วงต้นฤดู ส่วนหนึ่งตกลงมาก็ซึมซับลงดินที่แห้งแล้งหนักมาก่อน แต่ก็ยังเป็นความชื้นที่ช่วยให้ต้นพืชพอประทังได้ ปริมาณน้ำท่าส่วนที่เหลืออาจไม่มากนัก จะเก็บกักไว้ในทุกแหล่งที่มี กระทั่งในไร่นา สระต่างๆ นอกเหนือจากเขื่อน แต่สภาพฝนต้นฤดูในปีนี้ที่ยังดีกว่าปีก่อน”
ประสบการณ์จากบทเรียนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไคลเมท เชนจ์ ที่ผ่านมา ทำให้ สทนช. เริ่มเห็นทิศทางและวางรูปแบบการแก้ไขปัญหานี้ได้ชัดขึ้น โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำสามารถอุดช่องว่างระยะฝนทิ้งช่วงได้ยาวนาน 1-2 เดือน โดยไม่กระทบต่อการผลิตพืชหรือกระทบแต่น้อย
ขณะเดียวกัน วางแผนต่อเนื่องถึงช่วงฝนตกหนัก 3 เดือนสุดท้ายของฤดู เพื่อเก็บกักน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด ไปลดผลกระทบในฤดูแล้ง 2563/2564 รวมทั้งมีน้ำต้นทุนเหลือพอระยะฝนทิ้งช่วงปี 2564
เป็นการ์ดที่สูงมาก แก้ปัญหาระหว่างฤดูฝน จนกระทั่งฤดูแล้ง จนเวียนรอบเข้าสู่ฝนทิ้งช่วงเป็นวัฐจักรอีกครั้ง