xs
xsm
sm
md
lg

สตาร์ทฤดูฝนดีกว่าปี 2562 ระวังฝนทิ้งช่วง-น้ำหลากท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตาร์ทฤดูฝนดีกว่าปี 2562 ระวังฝนทิ้งช่วง-น้ำหลากท่วม

เริ่มต้นสตาร์ทฤดูฝน 2563 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา มีฝนตกลงกระจายดีกว่าปีที่แล้วที่มีสภาพแล้งต่อเนื่องค่อนข้างชัดเจน

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพายุจร คือไซโคลนอำพัน จากมหาสมุทรอินเดีย แต่พื้นที่รับอิทธิพลไซโคลนจำกัดแถบภาคตะวันตก เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และตาก รวมถึงจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันได้ฝนมากบ้างน้อยบ้าง

อีกส่วนมาจากลมประจำปี คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียเช่นกัน ส่วนใหญ่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เมืองขอนแก่นน้ำท่วม มุกดาหาร อุบลราชธานี ตกนานได้น้ำได้เนื้อภาพรวมได้น้ำพอสมควร แต่อย่าหลงว่าฝนตกกระจายถ้วนทั่วทั้งประเทศ
ในภาพย่อย บางอำเภอ บางจังหวัด ยังไม่มีฝนตกเลย อยู่ในสภาพแล้งและร้อน คงต้องอดทนรอต่อไป

บางพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำ เช่นพื้นที่ภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปกติเคยอาศัยน้ำบ่อตอกบ่อตื้นทำนาล่วงหน้าก่อนฤดูฝนจะมา ใช้น้ำบ่อจนน้ำแห้ง ต้องขุดรื้อให้ลึกลงไปไม่น้อยกว่า 12 เมตร

“อาจมีฝนดีในบางพื้นที่ เช่น ภาคอีสานและภาคเหนือ เริ่มทำนากันได้ แต่ที่น่าห่วงคือระยะฝนทิ้งช่วง ตั้งแต่กลางมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม ช่วงนั้นอาจต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนชลประทาน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าว

น้ำสำรองระยะฝนทิ้งช่วงเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ สทนช.รับรู้ และวางแผนแก้ไขปัญหา โดยให้เขื่อนเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดและสำรองเผื่อไว้ 2-3 เดือนสำหรับระยะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“พ้นจากระวังฝนทิ้งช่วงแล้ว เรายังต้องระวังช่วงน้ำหลาก ตั้งแต่สิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม ซึ่งมีปริมาณฝนมาก”

ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เสนอ 8 มาตรการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูฝนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม การปรับแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องน้ำต้นทุน การจัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การสำรวจแม่น้ำคูคลอง ขุดลอกและกำจัดผักตบชวา การเตรียมครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ การสร้างความรับรู้ และการประชาสัมพันธ์

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์น้ำไม่อาจพึ่งปัจจัยธรรมชาติจากฝนโดยตรงเพียงอย่างเดียว หากยังต้องใช้ปฏิบัติการฝนหลวงของกรมการบินฝนหลวงและการเกษตร ซึ่งปฏิบัติการบินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูแล้ง 2562/2563 ส่วนในช่วงฤดูฝนนี้ยังคงขึ้นบินเพื่อเพิ่มปริมาณฝนเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ในลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา ลำตะคอง ศรีนครินทร์ กระเสียว อุบลรัตน์ ลำนางรอง คลองสียัด ประแสร์ ประแกด แก่งกระจาน ปราณบุรี รัชประภา และบึงบอระเพ็ด


กำลังโหลดความคิดเห็น