สนพ.เกาะติดราคาน้ำมันตลาดโลกใกล้ชิดหลังพบมีแนวโน้มผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยบวกและลบทั้งความต้องการที่สูงขึ้นจากคลายล็อกดาวน์ การลดกำลังผลิตโอเปกพลัสเกาะติดประชุมช่วง มิ.ย.อีกระลอก ขณะเดียวกันหวั่นขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีนอาจนำไปสู่ภาวะ ศก.ถดถอย ด้านการใช้เอทานอลของไทยเริ่มผงกหัวหลังคลายล็อกดาวน์
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกใกล้ชิดเนื่องจากยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งบวกและลบ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ของหลายประเทศทั่วโลก และการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ที่มีแนวโน้มลดลงตามข้อตกลง ปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 ซึ่งจะต้องติดตามการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ซึ่งจะจัดขึ้นต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อหามาตรการระยะสั้นที่ไม่กระทบต่อสมดุลตลาดรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนปะทุอีกครั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ในฮ่องกง โดยสหรัฐฯ ขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของฮ่องกงหลังจีนกำลังพิจารณาใช้กฎหมายควบคุมฮ่องกง ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจโดยภาพรวมซึ่งจะมีผลให้ความต้องการใช้น้ำมันระยะยาวลดลงได้อีกเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ล่าสุดจากการที่รัฐผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในช่วงวันที่ 1-17 เดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตรต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.57 ล้านลิตรต่อวัน และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลิตจริงในเดือนเมษายนอยู่ที่ 3.46 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 1.03 ล้านลิตรต่อวัน
ขณะที่ปริมาณเอทานอลที่บริจาคและจำหน่ายเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนก่อน 13.53 ล้านลิตร ซึ่งเป็นไปตามทิศทางความต้องการใช้ในขณะนี้ที่เริ่มชะลอตัวลงจากก่อนหน้านี้ที่ประชาชนได้มีการแห่กักตุนในการซื้อไว้สำรองการใช้จำนวนมาก
ส่วนไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือนเมษายนปริมาณการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 5.7% และปริมาณการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 11% จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานลดลง อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐกําหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ทำให้ตลาดยังเป็นของผู้ขายราคาจึงยังไม่ปรับลงในช่วงนี้