"สศอ." เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2563 แตะ 79.04 ต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปีจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในบางส่วน ฉุดอัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือ 51.87% ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารรับอานิสงส์พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน อุตสาหกรรมยาขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 79.04 หดตัวลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.21% ซึ่งถือเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 101 เดือนหรือกว่า 8 ปี นับตั้งแต่ พ.ย. 2554 ที่ค่าดัชนีฯอยู่ที่ 66.95 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U) โดยรวมเดือนเมษายนอยู่ที่เพียง 51.87% ลดลงจากเดือน มี.ค. 62 ที่ Cap U อยู่ที่ 67.78%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เม.ย. 63 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเบียร์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต ประชาชนต้องหยุดการระบาดด้วยการอยู่บ้าน ลดการเดินทาง และการถูกสั่งห้ามการจำหน่ายสุรา ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนเมษายน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการบางรายได้สร้างอาคารเก็บยาเพิ่มเพื่อขยายความสามารถในการสต๊อกล่วงหน้า ยกเว้นยาผงที่พบปัญหาขาดวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า
ทั้งนี้ พบว่าอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5% กลับขึ้นมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารสัตว์ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและสหรัฐฯ โดยถ้าหักอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและหดตัวลงจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.2% เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.52% นับเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาดูใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การปลดล็อกทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการเต็มที่ได้เมื่อไหร่ การควบคุมโรคของประเทศคู่ค้า และรายได้และการออมที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วแค่ไหน โดยในเดือนพฤษภาคมประเทศไทยมีการควบคุมการระบาดได้ดี ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มมาตรการปลดล็อกกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการ ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมและในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสภาวะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)