“สศอ.” ปรับลดคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2563 ลบ 6-7% GDP ภาคอุตสาหกรรม ติดลบ 5.5-6.5% จากผลกระทบโควิด-19 ที่คาดว่าหลายประเทศจะยังยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีซึ่งจะกระทบต่อส่งออกไทย เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดคาดอีก 2-3 เดือนจะเห็นภาพชัดขึ้น
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกทำให้สภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงไทยที่จะได้รับผลกระทบในภาพรวม สศอ.จึงได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2563 ลบ 6-7% จากเดือนม.ค. 63 ที่ได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2-3% และการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5%
“ นับเป็นการหั่นเป้าหมายลงที่ค่อนข้างต่ำเพราะแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยจะเริ่มดีขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างน่าจะเริ่มทยอยกลับมาได้ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนัก เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ใกล้ชิดอีกครั้ง คาดว่าทิศทางในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าน่าจะมีความชัดเจนเนื่องกระบวนการผลิตของไทยกว่าครึ่งหนึ่งพึ่งพิงตลาดส่งออก” นายทองชัยกล่าว
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 102.79 เมื่อเทียบกับ มี.ค. 62 ซึ่งMPI อยู่ที่ 115.82 ปรับตัวลดลง 11.25% ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 63) อยู่ที่ 102.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ MIP อยู่ที่ 109.83 ลดลง 6.63% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) มี.ค. 63 อยู่ที่ 67.22% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ CapU อยู่ที่ 73.93% ทำให้ไตรมาสแรก CapU อยู่ที่ 66.68% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ CupU อยู่ที่ 71.26% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19
อย่างไรก็ตาม MPI มี.ค. 63 เมื่อเทียบกับMPI ก.พ. 63 ซึ่งอยู่ที่ 100.90 เพิ่มขึ้น 1.87% อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก ก.พ. 63 ที่อยู่ที่ 66.06% โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกในเดือน มี.ค.63 กลับมาขยายตัว 4.17% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Hard disk drive (HDD) ที่โต 10.18% หลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.25% อุตฯ เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.7% อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.75% เป็นต้น
“ความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมกิน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมีนาคมขยายตัว 0.8%” นายทองชัยกล่าว
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI เดือน มี.ค. ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68.93% อุตสาหกรรมยานยนต์ MPI มี.ค. ลดลง 24.56% เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้ยอดจำหน่ายทั้งในประเทศและการส่งออกลดลง การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม MPI ลดลง 8.68% จากผลกระทบการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ให้การใช้น้ำมันลดลง เป็นต้น