ราช กรุ๊ป มั่นใจปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มปีนี้ 5 โครงการ เผยจับมือ AMR Asia ศึกษาความเป็นไปได้ตั้งโรงงานผลิต และประกอบรถไฟฟ้าในไทย คาดได้ข้อสรุปต้นปีหน้า เผยไตรมาสแรกโกยกำไร 1,360.82 ล้านบาท
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บริษัทยังคงแผนการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในปีนี้ 5โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ หลังจากไตรมาสแรกปีนี้ประสบความสำเร็จร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทโคเจเนอเรชัน 2 แห่งในไทย คาดว่าไตรมาส 2/63 จะปิดดีลซื้อกิจการได้อีก 1-2 โครงการ และอีก 1-2 โครงการในครึ่งหลังปี 2563 เพื่อบรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าครบ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566
ในปีนี้บริษัทฯ เตรียมเงินลงทุนไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ในแผนแล้ว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1 หมื่นล้านเตรียมไว้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ ทำให้บริษัทรับรู้รายได้จากโครงการ M&A ได้ทันที
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ที่บริษัทร่วมทุนกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์นั้น คาดว่าจะได้รับการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในปีนี้ หลังจากนั้นก็ดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ คาดเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ในปี 2565 แล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และปี 2568
ส่วนสัญญาจัดหาก๊าซฯ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าดังกล่าว ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนนโยบายของภาครัฐในการเปิดเสรีโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบตลาดจร (Spot) ถูกลงมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้น บริษัทฯ จึงมองเห็นโอกาสเพื่อนำเข้า LNG มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าหินกอง ทำให้ยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท.ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นายกิจจากล่าวต่อไปว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟ, รถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง คาดแล้วเสร็จต้นปี 2564 โดยจะร่วมกับพันธมิตรอย่าง AMR Asia ผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางของคนไทย หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมระบบราง โดยมองว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตและประกอบรถไฟฟ้าได้แทนการนำเข้า ส่วนพันธมิตรเดิมอย่างบีทีเอสก็สนับสนุนให้บริษัทเดินหน้าศึกษาไปก่อน
ส่วนโครงการธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (วูดพาเลต) คาดว่าจะไดลงนามสัญญาได้ในไตรมาส 2 นี้ เพื่อดำเนินการปลูกไม้โตเร็วใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวูดพาเลตเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล
นอกจากนี้ บริษัทมองโอกาสในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ธุรกิจสีเขียว โครงการ Independent Power Supply (IPS) เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การต่อยอดธุรกิจจากโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจและสังคมร่วมกับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ใช้โอกาสจากการทำงานทางไกล ยกระดับศักยภาพขององค์กรเพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Smart Workplace ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานเชื่อมต่อกันภายในและซัปพลายเชน รวมทั้งสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการเตรียมความพร้อมพื้นที่ในภาคใต้แล้ว 2 โครงการ
นายกิจจากล่าวอีกว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,360 ล้านบาท ลดลง 21.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,741 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 623.03 ล้านบาท จากรายการเงินให้กู้ยืมแก่กิจการในกลุ่มบริษัทในสกุลเงินเหรียญออสเตรเลีย โดยค่าเงินเหรียญออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้สินทรัพย์สกุลเงินเหรียญออสเตรเลียมีมูลค่าลดลง
ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4,014 ล้านบาท มาจากรายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วน 32.9% ของรายได้รวม ปัจจัยสำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้