ผู้จัดการรายวัน 360 - เดอะมอลล์เสนอรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาร้านเช่าในศูนย์การค้า หลังยอดขาย 2 เดือนเป็นศูนย์เพราะถูกปิดกิจการ พร้อมอยากให้เลื่อนเวลาเคอร์ฟิว ชี้ค้าปลีกไทยปีนี้มูลค่าหายไป 5 แสนล้านบาท ทุ่ม 100 ล้านบาทวางระบบรับนิวนอร์มอลป้องกันโควิด-19 ออก 100 มาตรการเข้มรับเปิดศูนย์ฯ
นายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป และกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ต้องการเสนอให้ภาครัฐบาลหามาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาบรรดาร้านค้าในศูนย์การค้าบ้างรายละประมาณ 10,000 บาท นาน 3 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งตั้งแต่ที่รัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดบริการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามาตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ธุรกิจของร้านค้าเหล่านั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่มีรายได้ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น ค่าเงินเดือนพนักงาน
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนที่จะให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับมาเปิดกิจการได้โดยมีเงื่อนไขในเร็วๆ นี้ก็ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ครบทุกธุรกิจ หรือหากร้านค้าที่จะกลับมาเปิดกิจการก็ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งการจัดการสินค้า การสต๊อกสินค้า ขณะที่เงินทุนหมุนเวียนบางรายก็สะดุดไม่มี เพราะหมดไปกับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่วนเคอร์ฟิว อยากจะให้เลื่อนเป็น 23.00-04.00 น. เพื่อให้ร้านค้ามีเวลาในการขายมากขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า ภาพรวมของวงการค้าปลีกในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งนี้ สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์ ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่าตลาดค้าปลีกปี 2563 จะหดตัวราว 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 5 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 ที่อยู่ราว 3.5 ล้านล้านบาท
โดยมีผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลง โดยคาดว่าในปีนี้ (2563) จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพียง 13.1 ล้านคน ตกลงถึง 67% จากปีที่แล้วที่มีประมาณ 39.8 ล้านคน, กำลังซื้อที่ลดลง และสต๊อกสินค้าที่ขาดแคลน เช่น สินค้านำเข้าจากจีน และกำลังการผลิตที่หดตัวลง เป็นต้น
ขณะที่มีการประเมินกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย หรือจีดีพี ปี 2563 นี้จะติดลบที่ -5.3% จากปีที่แล้ว (2562) อยู่ที่ 2.4%
ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีการชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกาที่มีการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 โดยสหภาพยุโรปคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 2563 จะติดลบที่ 1.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.4% ในขณะที่ยอดค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา และจีน ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 20-25%
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปหรือที่เรียกว่า NEW NORMAL เช่น ผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น, การใส่หน้ากาก ตรวจวัดอุณหภูมิเป็นเรื่องปกติ, การเว้นระยะห่างทางสังคม, รวมถึง Digital life ดิจิทัลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนทุกคน, ระบบการจ่ายเงินแบบ TOUCHLESS PAYMENT ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในยุคใหม่ต้องมองความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยของศูนย์การค้า ร้านค้า ผู้บริโภคและพนักงานเป็นอันดับแรก
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ช่วง2เดือนที่ผ่านมารายได้หายเกือบ 70-80% โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่นกับเครื่องสำอาง เพราะขายได้เฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ตกับอาหารแบบดีลิเวอรี่กับเทคอเวย์ และคาดว่าหลังจากรัฐบาลจะผ่อนปรนให้ค้าปลีกกลับมาเปิดได้ในช่วงแรกลูกค้าอาจจะยังกลับมาไม่ครบ100% การใช้เวลาในห้างก็จะน้อยลงและการใช้จ่ายก็น้อยกว่าเดิม และปีนี้ไม่มีทางที่รายได้รวมจะเท่ากับปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้รายได้รวมจะตกลง 30% จากปีที่แล้ว 5 หมื่นกว่าล้านบาท
ช่วงที่ผ่านมาเราต้องปรับตัวรูปแบบบริการ เช่น ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าแล้วมารับได้แบบไดรฟ์ทรู การใช้แคชเลสไร้เงินสด การเน้นขายออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ยอดขายออนไลน์โตถึง 10 เท่า สินค้าขายดีเช่น พัดลม แอร์ เครื่องกรองอากาศ หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อหุงข้าว
“เราลงทุนประมาณ 100 กว่าล้านบาทเพื่อทำระบบต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขอนามัย รวมทั้งปรับรูปแบบการบริการเพื่อรองรับนิวนอร์มอลด้วย” นางสาววรลักษณ์กล่าว
กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป วางมาตรการเชิงรุกขั้นสูงสุดด้วย 5 มาตรการหลัก และ 34 มาตรการย่อย สำหรับลูกค้า และ 6 มาตรการเสริม 66 มาตรการย่อย สำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจ รวม 100 มาตรการ โดยกลยุทธ์หลักที่เราทุ่มเทและให้ความสำคัญคือมาตรการสร้าง TMG TOUCHLESS SOCIETY หรือสังคมไร้สัมผัส