xs
xsm
sm
md
lg

“COVID-19” สะเทือนอีเวนต์รวม ตลาด 2.3 แสนล้านสะดุด วูบสุดรอบ 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ตลาดรวมอีเวนต์ทั้งระบบมูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาทสะเทือนหนัก เจอไวรัสโควิด-19 (COVID-19 ) พ่นพิษใส่อย่างแรง วูบหนักสุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว พร้อมทั้งส่งผลกระทบทางตรง-ทางอ้อมอีกเพียบ


หัวใจสำคัญของการหยุดแพร่เชื้อโควิด-19 คือ เว้นระยะห่างในการอยู่ใกล้กัน สวนทางธรรมชาติคนไทย รักความครื้นเครง สังสรรค์ เฮฮา ที่ต้องงดทุกกิจกรรมการจัดงาน ตอกย้ำตัวเลขชัดเจน โดยทีเส็บฟันธงภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ (ไม่รวมสปอร์ตอีเวนต์) มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ทรุด 80% เจ็บสุดคือกลุ่มออร์แกไนซ์อีเวนต์ 13,000 ล้านบาท ติดลบ 15% ส่งผลต่อพนักงานคนทำงานในอุตสาหกรรมอีเวนต์ทั้งระบบจำนวนหลายหมื่นคน

แนวทางในการหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด คือการเว้นระยะห่างในการอยู่ร่วมกัน กล่าวคือ งดการจัดกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดการชุมนุม หรือมีจำนวนคนอยู่ร่วมกันในปริมาณมากๆ ซึ่งในความเป็นจริง สวนทางกับพฤติกกรรมมนุษย์ และนิสัยคนไทยอย่างมาก เพราะมันอยู่ในสายเลือด เนื่องจากคนไทยเราชอบความครื้นเครง จัดงานสังสรรค์ รื่นเริง อันนำมาซึ่งกิจกรรมต่างๆ จากหลายเทศกาลที่เกิดขึ้นตลอดปี แต่ผ่านมาเกือบครึ่งปีประะเทศไทยงดกิจกรรมการจัดงานต่างๆ ออกไปหมด โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ของประเทศ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเสียหายไปหมดแบบลูกโซ่

ทีเส็บ หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ได้ประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ ประกอบด้วย MICE, เอนเตอร์เทนเมนต์ อีเวนต์ ออร์แกไนซ์อีเวนต์ และการจัดงานรื่นเริงต่างๆ (ไม่รวมสปอร์ตอีเวนต์) ในปี 2563 นี้ จากที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.3 แสนล้านบาท ปีนี้มีแนวโน้มทรุดลงจากเดิม 80% จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย


*** อีเวนต์ออร์แกไนซ์ ครึ่งปีแรกทรุด 60%

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ผู้นำธุรกิจสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรแห่งอาเซียน ครอบคลุมธุรกิจด้านอีเวนต์, ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อธุรกิจอีเวนต์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีตั้งแต่เกิดวงการอีเวนต์ขึ้นมา โดยผลกระทบเริ่มชัดเจนมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งงานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% ซึ่งปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจอีเวนต์

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด พบว่าภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบหนัก มูลค่าความเสียหายตลาดอีเวนต์อยู่ที่ประมาณ 50-60% จากภาพรวมตลาดอีเวนต์ปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท และคาดว่าทำให้บริษัทออร์แกไนเซอร์ต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจการจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งในแต่ละปีมีการจัดงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมกันมากกว่า 100 งาน ปัจจุบันต้องหยุดจัดงานเลยทั้งหมด


*** คนตกงานหลายหมื่นคน หลังธุรกิจอีเวนต์สะดุด
นายเสริมคุณกล่าวต่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจอีเวนต์ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อบริษัทออร์แกไนเซอร์แล้ว ธุรกิจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการจัดงานอีเวนต์อีกหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ได้แก่ 1. ธุรกิจด้านซัปพลายอุปกรณ์ระบบภาพแสงเสียง 2. ธุรกิจการทำโครงสร้างเวที, ทำฉาก 3. ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ, โรงแรม และห้างสรรพสินค้า 4. ธุรกิจก่อสร้างบูท, พาวิเลียน และ 5. ธุรกิจรับจัดเลี้ยง (Catering)

นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องในงานอีเวนต์ เช่น พิธีกร, พริตตี้, สตาฟรันงาน, ช่างภาพ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความเสียหายหนักมาก โดยเฉพาะในบางบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่ สภาพคล่องในกิจการไม่มากพอ อาจจะต้องถึงกับปิดตัวภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ เมื่อธุรกิจดำเนินต่อไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้กิจการ และสุดท้ายส่งผลต่อพนักงานคนทำงานในอุตสาหกรรมอีเวนต์ทั้งระบบจำนวนหลายหมื่นคน ที่บางคนต้องตกงาน หรือถูกลดเงินเดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเชื่อว่าจะมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมากถึง 50-60%

“อยากฝากไปถึงภาครัฐบาลให้ความสนใจ และมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการจัดงาน รวมทั้งคนในอาชีพวงการอีเวนต์ด้วย ซึ่งถ้าหากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลาย ขอให้รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว จะได้สร้างให้เกิดเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ” นายเสริมคุณกล่าว


*** CMO ครึ่งปีแรกรายได้หาย 80%

นายเสริมคุณได้กล่าวถึงภาพรวมของซีเอ็มโอด้วยว่า ในส่วนของ CMO ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดของการดำเนินธุรกิจ โดยส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทอย่างมาก หรือในไตรมาส 1-2 นี้ คาดว่ารายได้จะลดลงประมาณ 80% เนื่องจากอีเวนต์หลายงานในช่วงนี้ต้องยกเลิก จากปกติเป็นช่วงที่ธุรกิจอีเวนต์จะคึกคักอย่างมาก เพราะจะมีทั้งการจัดงานมอเตอร์โชว์, งานแสดงสินค้าต่างๆ, เปิดตัวสินค้าโดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่ส่วนใหญ่จะมีการจัดงานปาร์ตี้คอนเสิร์ต EDM ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้ก็ต้องยกเลิกไป

สำหรับผลกระทบในครั้งนี้ บริษัทได้แก้วิกฤตครั้งใหญ่ในเรื่องของการบริหารงานบริหารคนเช่นกัน โดยจำเป็นต้องปรับลดวันทำงานของพนักงานจาก 5 วัน เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และขอปรับลดเงินเดือนพนักงานตามสัดส่วน ซึ่งได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน โดยทุกคนเข้าใจและยินยอมที่จะสู้ไปด้วยกัน

แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดีขึ้น กลับมาจัดงานอีเวนต์ได้ตามปกติ บริษัทยังมีงานที่มีความต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3-4 รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ทำให้บริษัทจะปรับเป้ารายได้ปีนี้ลดลง 50% หรือลดลงประมาณ 700 ล้านบาท


*** อีเวนต์ฟื้นเร็วสุดเดือน ต.ค.ด้วยรูปแบบไฮบริด
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีต่อการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ให้คลี่คลายเพื่อให้ประเทศไทยก้าวเดินต่อไป ส่งผลให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะเริ่มทยอยกลับมาจัดงานอีเวนต์ และกิจกรรมปกติในรูปแบบต่างๆ ได้ในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้

นายเกรียงกานต์ กาญจนโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวมองว่าอย่างเร็วสุดคือช่วงเดือน ต.ค.นี้ที่จะเห็นภาพรวมอีเวนต์จะเริ่มกลับมา แต่จะเป็นแบบไฮบริด คือออนไลน์ผสมอีเวนต์ และจะกลับมาจริงๆ คือต้นปีหน้า 2564 เลย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้พบว่ากลุ่มธุรกิจงานอีเวนต์, คอนเสิร์ต และงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่จะจัดขึ้นในไตรมาสหนึ่ง ทั้งหมดถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงไตรมาสสองและครึ่งปีหลังแทน โดยยังไม่พบงานที่ยกเลิกจัด แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์กันต่อไปว่าจะไปจบที่เมื่อไหร่ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจอีเวนต์มูลค่า 13,000 ล้านบาท ปีนี้อย่างต่ำจะติดลบ 15%


สำหรับภาพรวมอีเวนต์ปี 2563 นี้มั่นใจว่าจะตกลงแน่นอน เพราะไตรมาส 1 อีเวนต์เจอผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะอีเวนต์ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาทั้งหมดถูกเลื่อนออกไปจัดในไตรมาส 2 และ 3 แทน ซึ่งงานอีเวนต์น่าจะกลับมาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 แต่ต้องดูสถานการณ์ควบคู่กันไปด้วย เพราะตอนแรกไทยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี แต่ตอนนี้คนกังวลเรื่องการเดินทาง ทำให้งานอีเวนต์ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ยังคงอยู่ได้ แต่รายย่อยอาจจะกระทบหนักจนต้องปิดกิจการเพราะสายป่านไม่ยาวพอ ถูกเลื่อนงานอาจจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก

“ระหว่างนี้อยากให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของการคืน withholding tax เพื่อช่วยให้หลายๆ บริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ เพราะอีเวนต์ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ” นายเกรียงไกรกล่าว

ในส่วนของอินเด็กซ์ ปีนี้เชื่อว่าจะทำรายได้รวมได้ราว 50% ของ 1,600 ล้านบาทจากปีก่อน ก็ถือว่าดีเยี่ยมแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทมีการปรับโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ต้นปี และงานส่วนใหญ่อยู่ช่วงครึ่งปีหลัง แม้ขณะนี้งานอีเวนต์ถูกเลื่อนออกไปเป็น 100 งาน ดังนั้นแผนของอินเด็กซ์จากนี้จะรุกธุรกิจในส่วนของนอนอีเวนต์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของ Own Project


** คอนเสิร์ตเจ็บสุด แกรมมี่โยกไปครึ่งปีหลังหมด
อย่างไรก็ตาม ภาพการจัดงานอีเวนต์ที่เห็นผลกระทบมากที่สุด คืออีเวนต์ในรูปแบบของคอนเสิร์ต ที่พบว่าตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีทั้งการเลื่อนจัดงานออกไปเป็นช่วงครึ่งปีหลังแทน รวมถึงยกเลิกการจัดงานทั้งที่ขายบัตรออกไปแล้ว จนต้องมีการเปิดให้คืนบัตรและรับเงินคืนไป อย่างเช่น คอนเสิร์ตฉลอง 50 ปี ช่อง 3 ที่เดิมจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้จัดงานคอนเสิร์ตรายใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่โชคดีที่งานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ครึ่งปีแรกผ่านวิกฤตไปอย่างฉิวเฉียด

“แผนงานโชว์บิซของแกรมมี่ยังดำเนินไปตามปกติ แต่พร้อมเฝ้าระวังและมีมาตรการควบคุมการติดต่อของไวรัสโควิด-19 ด้วย ซึ่งการจัดงานโชว์บิซหลังจากนี้ โดยเฉพาะในส่วนฮอลล์ที่จัดงาน จะมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังจบงาน มีจุดคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน มีจุดให้บริการเจลล้างมือทั่วงาน มีการแจกมาสก์ระหว่างชมคอนเสิร์ต เป็นต้น” นายภวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด กล่าวถึงแผนรับมือโควิด-19 ไว้ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของกลุ่มธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ ธุรกิจโชว์บิซ แต่ในความเป็นจริงยังไม่ได้รับผลกระทบเลย ส่วนสำคัญมาจากการวางแผนการจัดงานที่วางไว้ล่วงหน้า 9 เดือน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เชื่อว่ายังไม่ดีขึ้น

ส่งผลให้งานส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ส่วนของไตรมาสแรกได้จัดงานไปแล้วก่อนมีโควิด-19 เกิดขึ้น ขณะที่เกิดไวรัสโควิด-19 มีการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตอะตอมหมดแล้ว ซี่งจะจัดขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนคอนเสิร์ตไมโครที่จะตามมาในไตรมาสสองยังไม่เห็นผลกระทบแต่อย่างใด ดูได้จากยอดการคืนบัตรต่ำกว่า 8% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้แผนงานโชว์บิซยังดำเนินไปตามเดิม แต่พร้อมเฝ้าระวังและจัดการให้ทัน ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มธุรกิจโชว์บิซ ปีก่อนมี 30 งาน ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40 งาน แบ่งเป็น เฟสติวัล 5 งาน, โซโลคอนเสิร์ต 4 งาน, ธีมคอนเสิร์ต 3 งาน และงานเล็กๆ อีก 24 งาน ซึ่งไม่รวมกับงานจ้างตามผับกลางคืน อีก 7,000 งานตลอดปี ซึ่งเป็นส่วนที่มีการปรับแผนมากสุด แต่ทั้งปีนี้เชื่อว่าธุรกิจโชว์บิซจะเติบโตที่ 10% หรือมีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทตามแผนที่วางไว้

นายภาวิตกล่าวต่อว่า ปีนี้กลุ่มธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ตั้งเป้ารายได้รวมจะเติบโตขึ้นอีกอย่างน้อย 10% จากปี 2562 ที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิคมีรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี หรือทำได้กว่า 4,014 ล้านบาท และมีกำไร 472 ล้านบาท โตขึ้น 13.2% โดยมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1. Digital Music โตขึ้น 31% ด้วยรายได้ 1,123 ล้านบาท 2. Showbiz โตขึ้น 36% รายได้ 524 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ รายได้ 313 ล้านบาท โตขึ้น 25%




กำลังโหลดความคิดเห็น