กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยอียูเปิดตัวฟังก์ชันใหม่ EUCLEF รวบรวมกฎระเบียบด้านสารเคมีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องไว้ ทั้งสารเคมีที่ให้ใช้ได้ และระดับสารเคมีตกค้างสูงสุดไว้ในที่เดียวกัน แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเจาะตลาดอียู
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของอียู (European Chemicals Agency : ECHA) ได้เปิดตัวฟังก์ชันใหม่ EUCLEF (EU Chemicals Legislation Finder) บนเว็บไซต์ echa.europa.eu เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมกฎระเบียบด้านสารเคมีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของอียูไว้ในที่เดียว เช่น การควบคุมสารเคมี คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ อียูให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอย่างมาก จึงมีกฎระเบียบหลายฉบับที่ควบคุมการใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบด้านสารเคมีของอียูไว้ใน EUCLEF จะช่วยให้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้า โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อกฎระเบียบที่จะแสดงข้อมูลของสารเคมีประเภทต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงการควบคุมการใช้สารเคมี รวมถึงการอนุญาตให้มีระดับสารตกค้างสูงสุด และยังช่วยให้ทราบถึงกฎระเบียบที่กำกับดูแลสารเคมีที่ผลิตหรือที่ใช้ในการผลิตสินค้า
นอกจากนี้ EUCLEF ยังมีระบบ Helpdesk สำหรับเป็นช่องทางติดต่อ โดยสามารถสอบถามข้อสงสัยทางเทคนิคเกี่ยวกับสารเคมีและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจสามารถศึกษากฎระเบียบด้านสารเคมี และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของอียูได้ที่เว็บไซต์ echa.europa.eu เข้าไปที่ฟังก์ชัน EUCLEF ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบัน EUCLEF จะให้บริการข้อมูลเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น
“ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบด้านสารเคมีและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารเคมี เช่น การผลิตและการนำเข้าสารเคมีแต่ละชนิดของอียู สารเคมีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ และระดับสารเคมีตกค้างสูงสุดในสินค้าผ่านฟังก์ชันดังกล่าว และนำมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาดอียู เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังสามารถตรวจสอบและติดตามกฎระเบียบด้านสารเคมีของอียู เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานในด้านที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย” นางอรมนกล่าว