สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญและร่วมกันต่อสู้อย่างเต็มกำลัง วิกฤตดังกล่าวส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานครได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ Vajira Modified Airborne Infection Isolation Stretcher (VJR MAII-Stretcher) เพื่อทดแทนและแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าว ทั้งยังเป็นการช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอีกด้วย
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นด่านหน้าในการรักษาผู้ติดเชื้อ และดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จึงได้ร่วมมือศึกษา พัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแรงดันลบจากแบบที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้พัฒนาไว้ โดยฮอนด้าใช้แบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฯ ที่พัฒนาเพิ่มเติมเป็นแบบในการผลิตเพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ และยังมีแผนงานที่จะใช้ฐานการผลิตของบริษัทฮอนด้าในต่างประเทศเพื่อผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนี้ส่งมอบไปยังสถานพยาบาลที่มีความต้องการในต่างประเทศอีกด้วย
ในโอกาสนี้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้สนับสนุนการให้บริการยืมรถพยาบาล จำนวน 1 คัน รถจักรยานยนต์พยาบาล (Motorlance) 1 คัน พร้อมมอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (Negative Pressure Mobile Bed) จำนวน 5 เตียง ที่บริษัทได้ผลิตขึ้นจากต้นแบบของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หน้ากากกันกระเด็น (Face Shield) จำนวน 50 ชิ้น ชุดป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment Suit (PPE Suit) จำนวน 500 ชุด และหน้ากากอนามัยแบบผ้า จำนวน 5,000 ชิ้น ให้แก่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ต่อไป