ไปรษณีย์ไทย แจ้งยอดการจัดส่งหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ ในโครงการ “ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19” แล้วกว่า 100,000 กล่อง น้ำหนักมากถึง 300,000 กิโลกรัม ความต้องการ “ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) และหน้ากากอนามัย” ยังครองอันดับ 1 สิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งาน เนื่องจากใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งแพทย์ต้องใช้จำนวนมาก
พร้อมแจ้งจากสถิติการฝากส่งของถึงบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าสิ่งของบริจาคบางประเภท อาทิ กล่องอะคริลิคอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเนื่องจากข้อจำกัดการใช้งาน พร้อมเชิญชวนคนไทยส่ง “หน้ากากอนามัยชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ถึง 30 เมษายนนี้
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการ ‘ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19’ ซึ่งไปรษณีย์ไทยให้บริการส่งหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นมา
ได้ขนส่งให้ โรงพยาบาลเกือบ 200 โรง กว่า 100,000 กล่อง น้ำหนักมากถึง 300,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งจากการส่งต่อให้โรงพยาบาล พบว่า สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการยังคงเป็น “หน้ากากอนามัยและชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment)” เนื่องจากสิ่งของเหล่านี้เป็นของที่ใช้ได้ครั้งเดียว และใช้ในปริมาณมาก
นอกจากนี้ ยังได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ถึงความต้องการสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่จะป้องกันเชื้อ COVID-19 คือ หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE)
มาตรฐาน สะอาดปลอดภัย สิ่งของหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยหรือป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค จะต้องเป็นสิ่งของที่ได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานราชการยืนยัน หรือหากเป็นสิ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำขึ้นเอง เช่น หมวกเฟซชิลล์ (Face Shield) สามารถดูวิธีการเลือกวัสดุ อุปกรณ์ หรือวิธีการทำได้จากเว็ปไซต์หรือแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สิ่งของและอุปกรณ์ดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์
ตรงความต้องการใช้งาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกำลังต้องการใช้งานอย่างเร่งด่วน ได้แก่ หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment) ไปรษณีย์ไทย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันจัดส่งอุปกรณ์ดังกล่าวให้ตรงความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากพบว่า อุปกรณ์บางประเภทที่ถูกจัดส่งแล้วนั้นมีข้อจำกัดในการใช้งานที่จะใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น กล่องอะคริลิก ทำให้อาจไม่ถูกนำมาใช้งานในช่วงวิกฤต COVID-19 มากนัก จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันจัดส่งอุปกรณ์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงนี้
บรรจุในกล่องที่แน่นหนา ขอความร่วมมือประชาชนบรรจุสิ่งของให้ง่ายต่อการคัดแยกของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เช่น แยกประเภทสิ่งของให้ชัดเจน บรรจุสิ่งของชนิดเดียวกันไว้ด้วยกัน พร้อมทั้งหุ้มห่อให้แน่นหนาป้องกันการแตกหัก เสียหาย เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังคงอำนวยความสะดวกในการส่งต่อสิ่งของหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ประชาชนสามารถบรรจุสิ่งของลงกล่อง พร้อมจ่าหน้าถึงโรงพยาบาลที่ต้องการฝากส่ง มาส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต ร้านไปรษณีย์ EMS Point และร้านรวบรวม
หากมีสิ่งของฝากส่งจำนวนมากสามารถแจ้งความประสงค์กับไปรษณีย์ไทยได้ที่หมายเลข 0-2831-3598 หรือ 09-1771-7408 เพื่อประสานงานในการขนส่ง ซึ่งไปรษณีย์ไทย จะดำเนินการจัดส่งให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศด้วยบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ขอความร่วมมือบริจาคสิ่งของตามความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และสิ่งของที่ฝากส่งจะต้องไม่ใช่สิ่งของต้องห้ามในการขนส่งและไม่มีเป้าหมายในเชิงพาณิชย์ นายก่อกิจ กล่าวสรุป