xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียว EIA รถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม” เตรียมประมูลก่อสร้างกว่า 5 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สผ.อนุมัติ EIA รถไฟทางคู่ สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม แล้ว เตรียมเดินหน้าประมูลก่อสร้าง วงเงินกว่า 5 หมื่นล. เพิ่มโครงข่ายระบบราง East-West Economic Corridor หนุนขนส่ง การค้าเชื่อม สปป.ลาว

วันนี้(30 เม.ย.) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ผ่านระบบ VDO conference โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA ) จำนวน3โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งไปยัง สปป.ลาว  

สำหรับ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยคาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี2564 คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.37% ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตัน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.19% ต่อปี มีผลตอบแทนทางการเงิน 0.42% และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ 13.49%

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ EIA โครงการเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด และจังหวัดนครราชสีมา ของ นายประสาน ยุวานนท์ ทั้งนี้ ให้เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

และเห็นชอบกับการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ได้แก่ ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการอนุรักษ์ คุ้มครองและใช้ประโยชน์ถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ถูกคุมคาม และขั้นตอนการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเข้าร่วมเป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพในโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย เพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจน และสามารถอนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างแรงจูงใจ และส่งเสริมให้หน่วยงานและประชาชนมีความเข้าใจและตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น