ธุรกิจกลาง-ใหญ่เตรียมลุ้นหลัง “สมคิด-สนธิรัตน์” เคาะช่วยเหลือค่าไฟเอกชนเพิ่มเติมมอบ “กกพ.” ขยายเว้นอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากเดิม เม.ย.-มิ.ย. 63 ขยายออกถึงธ.ค. 63 คืนเงินประกันการใช้ไฟให้กิจการรายกลางและใหญ่ ส่วนข้อเสนอผ่านชำระค่าไฟขอให้ไปจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนอีกครั้ง
วันนี้ (23 เม.ย. 63) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน พร้อมด้วย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้แทนผู้ประกอบการจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 3 การไฟฟ้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังการหารือว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยที่ประชุมได้ข้อยุติมอบให้ กกพ.ไปพิจารณาผ่อนผันการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) จากเดิม 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63) ออกไปเป็นถึงเดือน ธ.ค. 63 สำหรับกิจการขนาดกลาง (ประเภท 3) ใหญ่ (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) (โรงแรม อพาร์ตเมนต์ เป็นต้น) องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (ประเภท 6) และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ประเภท 7)
"ค่า Minimum Charge เป็นค่าไฟฟ้าขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายประมาณ 70% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบ 12 เดือน เอกชนเห็นว่าโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟต่ำลงมากเมื่อใช้น้อยหากจ่าย 70% ก็จะลำบากจึงขอผ่อนผันจ่ายตามการใช้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ยกเว้นให้เป็นเวลา 3 เดือนแล้วแต่เอกชนเห็นว่าควรจะขยายเป็นสิ้นปีเพื่อลดภาระรายจ่าย เรื่องนี้ กกพ.จะนำไปดำเนินการให้เสร็จในเร็วๆ นี้ โดยธุรกิจกลางและใหญ่จะมี 114,453 ราย ส่วนกิจการอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลจำนวนที่ชัดเจน" นายสนธิรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 (กิจการขนาดกลาง) และประเภทที่ 4 (กิจการขนาดใหญ่) รวมทั่วประเทศประมาณ 114,453 รายนั้นได้มอบให้ กกพ.ไปเร่งพิจารณาดำเนินการศึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเช่นกัน
สำหรับข้อเสนอเอกชนที่ขอผ่อนผันการชำระเงินค่าไฟฟ้าออกไปก่อนสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น กกพ.ได้แสดงความเห็นถึงแนวทางดังกล่าวอาจทำให้เกิดหนี้เสียที่อาจกระทบในระยะยาวได้ จึงมอบหมายให้ภาคเอกชนไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือให้ชัดเจนและจำกัดความของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ตรงเป้าหมาย โดยจะเห็นว่าในธุรกิจท่องเที่ยวนั้นได้รับผลกระทบชัดเจน แต่ภาคอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเวชภัณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เป็นต้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ดำเนินการเฉพาะในส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เท่านั้น ทำให้กิจการขนาดใหญ่ได้เสนอขอความช่วยเหลือ ซึ่งค่าประกันการใช้ไฟฟ้าที่เอกชนรายกลางและใหญ่จะได้รับคืนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.2 -2.4 หมื่นบาทต่อราย