โควิด-19, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, ภัยแล้ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค. 63 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวอยู่ที่ระดับ 96 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เหตุผู้ประกอบการยังกังวลต่อการประกอบกิจการในอนาคตหากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 88.0 ลดลงจากระดับ 90.2 เดือน ก.พ. 62 นับเป็นค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 28 เดือนนับตั้งแต่ ธ.ค. 60 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดการแพร่ระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และส่งผลให้กำลังซื้อในภาคเกษตรลดลง
"ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 96.0 โดยลดลงจาก 98.1 เดือน ก.พ. 63 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค. 52 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการใน 3 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการฟื้นฟูกิจการ" นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,026 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ผู้ประกอบการ 67.3% มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง
ผู้ประกอบการ 49.3% มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก 42.3% ราคาน้ำมัน 31.7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 18.8% ตามลำดับ
"ส.อ.ท.จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 7 คณะ เช่น คณะทำงานด้านภาษีฯ คณะทำงานด้านแรงงาน คณะทำงานลอจิสติกส์ คณะทำงานป้องกันและปราบปรามโควิด-19 ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อมูลด้วยการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอรัฐและดูแลสมาชิกและอุตสาหกรรมข้างนอก ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" นายสุพันธุ์กล่าว
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สนับสนุนจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้ใช้สินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ ให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาหักภาษีได้ ให้ภาครัฐสนับสนุน E-Commerce Platform ของประเทศ เพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เป็นต้น