การตลาด - เก้าอี้ CEO ช่อง 3 ว่างลงอีกครั้ง หลังจาก “อริยะ พนมยงค์” ขอลงจากตำแหน่ง จากที่นั่งมาได้ 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามที่หลายคนคาดเดากันไว้ ส่วนสาเหตุที่ต้องจากลา หัวใจสำคัญคือ “คนนอกที่เข้าไม่ถึงคนใน” ภายใต้ภาวะกดดันด้วยสถานการณ์ภายนอกที่ถล่มซ้ำไม่หยุด ผลงานที่ออกมาในรูปรายได้ทำงานช้า และแนวโน้มปีนี้อาจจะหนักกว่าปีก่อนที่ทำรายได้ไว้ที่ 8,779 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท ตอกย้ำว่า ตำแหน่ง CEO ที่เปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่เป็นเรื่องของการปรับตัว ต่อสู้กับตัวเองมากกว่า “3 พลังหญิง” จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง ที่ช่อง3 ใช้เดิมพัน
“ผมอาจจะมีความคิดแตกต่างจากคนทั่วไป ที่เริ่มทำงานจากบริษัทไทยและไปอินเตอร์ เพราะผมเริ่มจากบริษัทอินเตอร์ และกลับมาทำงานกับบริษัทไทย และจากที่ผ่านมาได้คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อ แม้จะทำงานกับกูเกิลที่แรก และไลน์ทีวีตามมา แต่ก็ได้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเรื่องของคอนเทนต์ จึงอยากจะช่วยให้บริษัทไทยได้ข้ามผ่านจุดนี้ไปให้ได้ จึงได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับทางช่อง 3 โดยจะไม่นึกถึงอุปสรรค จะมองแต่เพียงโอกาสที่จะมุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น เพื่อให้ช่อง 3 ได้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง และจะทำให้ช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกที่ข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะเชื่อมั่นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงดูคอนเทนต์จากทีวี เพียงแต่ช่องทางรับชมเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น และที่ไหนมีผู้ชมเราต้องอยู่ที่นั่น”
นั่นคือการเปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้ชายที่ชื่อ “อริยะ พนมยงค์” ในฐานะ CEO คนใหม่ของบีอีซีเวิลด์ หรือช่อง 3 ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา
ครั้งนั้นเรียกได้ว่าเขย่าวงการทีวีครั้งใหญ่ได้มากทีเดียว และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา อริยะก็ได้สร้างความฮือฮาอีกครั้งในมุมกลับกัน แต่ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่กับข่าวใหญ่ของวงการทีวี เมื่อ “อริยะ พนมยงค์” ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปเมื่อช่วงเที่ยงของวันจันทร์ที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง แจ้งกรรมการลาออก ในรายละเอียดระบุว่า บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งว่า นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ และกรรมการบริษัท เนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ นายอริยะ พนมยงค์ ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และกรรมการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาได้ประมาณ 1 ปี จากการทาบทามจากทางฝั่งของ นายประชุม มาลีนนท์ ประธานบริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น แต่หลังจากนั้นนายประชุมได้ยื่นหนังสือลาออกไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 หรือลาออกไปก่อนเพียง 1 เดือน “อริยะ” ก็ลาออกตาม
“รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้บริหารงานให้กับบีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมสื่อเจอวิกฤตดิสรัปชัน แต่บีอีซี เวิลด์ยังคงมีความแข็งแรงด้านคอนเทนต์อยู่ และยังมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อคงความเป็นผู้นำทางด้านทีวี เจาะตลาดดิจิทัลและต่างประเทศ ผมขอขอบคุณกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบีอีซี เวิลด์ ที่ให้การสนับสนุนการทำงานตลอดมา” นี่คือคำกล่าวทิ้งท้ายในฐานะ CEO ของ อริยะ พนมยงค์ ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งไป
อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาผลงานของ “อริยะ พนมยงค์” ที่ช่อง 3 ยังคงไม่เห็นถึงความเด่นชัดเท่าที่ควรนัก หลังจากได้เข้ามาทำงานช่วงแรกก็มุ่งปรับทัพองค์กรภายในเป็นหลัก ดึงมือดีคู่ใจขนาบข้างซ้ายขวาเข้ามาช่วยงานอย่างน้อย 2 คน คือ “สุชาติ ภวสิริพร” Head of Human Resources and General Administration จาก LINE ประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักทรัพยากรบุคคล บริษัท บีอีซี เวิลด์ ซึ่งว่ากันว่าสุชาตินี้เป็นผู้บริหารที่ทำงานใกล้ชิดกับอริยะ ตั้งแต่ทำงานด้วยกันที่ LINE และยังบุกเบิกธุรกิจใหม่ LINE JOBS แอปฯ หางานผ่านไลน์
อีกคนคือ “วรุตม์ ลีเรืองสกุล” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Egg Digital ที่เป็นผู้ดูแลด้านการตลาดธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น แทนที่ ม.ล.ฤดีชนก กฤดากร ที่ลาออกไป โดยหน้าที่หลักของวรุตม์จะเข้ามาดูแลบีอีซีไอ ทำธุรกิจคอนเทนต์ออนไลน์ทั้งหมดของกลุ่มช่อง 3 ในชื่อบริการ Mello คือการชมทีวีออนไลน์ ซึ่ง Mello จะเป็นช่องทางทีวีออนไลน์ช่องทางแรกที่ได้รีรันละครของช่อง 3 ก่อนช่องทางออนไลน์อื่นๆ เช่น LINE และ Youtube
รวมถึงเน้นลีนองค์กร ปรับลดพนักงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดภาวะขาดทุน ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าการลดพนักงานของเขากลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รุนแรงมากส่งผลกระทบถึงคนเก่าคนแก่ในองค์กรมาก ซึ่งเป็นธรรมชาติของพนักงานเดิมในองค์กรทุกที่ที่ต้องต่อต้านคนนอกที่เข้ามาใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลง ปลดคน ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาทำงานยาก
หลังจากนั้นจึงเริ่มวางนโยบายแนวทางการดำเนินงานของบีอีซี เวิลด์ ใหม่ ยกระดับจากสถานีโทรทัศน์ สู่การเป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณา หาแหล่งรายได้ใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ โลกออนไลน์ ที่จะเป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่ต้องทำให้ได้
ทางบีอีซีเวิลด์เองก็ตั้งความหวังไว้กับ อริยะ อย่างมากผู้ซึ่งมีประสบการณ์มาจากธุรกิจโลกออนไลน์ ที่จะเข้ามาปรับทัพช่อง 3 ให้เข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัว หลังจากที่อยู่ในโลกออฟไลน์มานาน
กระทั่งออกมาเป็น 6 แผนการดำเนินงานของปี 2563 คือ 1. นิวมีเดีย ในลักษณะ D2C ไดเรกต์สู่คอนซูเมอร์โดยตรง ทำงานร่วมกับแบรนด์ ปรับสื่อเดิมให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการเพิ่มทราฟฟิกการรับชม และเพิ่มยอดขายให้ลูกค้า เป็นต้น 2. โกอินเตอร์ เน้นจีน และอินโดไชน่า ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีก่อน
3. ดิจิทัล กับ “3+” แพลตฟอร์มออนไลน์ในการรับชมคอนเทนต์ช่อง 3 ทั้งหมดในที่เดียว ตั้งเป้ารายได้โตขึ้น 2 เท่า จากปีก่อนยอดวิวโตขึ้น 35% แต่รายได้ทรงตัว 4. นิวคอนเทนต์ จะให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์ที่จะนำเสนอในปีนี้มากขึ้น โดยเฉพาะ 3 ช่วงเวลาหลัก คือ 18.00-19.00 น, 19.00-20.00 น. และหลัง 20.20-22.00 น. จะเป็นคอนเทนต์ละครที่นำเสนอในรูปแบบใหม่ เดินเรื่องเร็ว กระชับ ห้ามพลาดในการติดตาม หรือมีรายการใหม่ๆ ที่จะลงในช่วง 6 โมงเย็น 5. อาร์ติสท์ เพิ่มพื้นที่ให้ศิลปินที่มีอยู่กว่า 200 คน ทั้งบนหน้าจอและออนไลน์ ผ่านรายการใหม่ๆ ในรูปแบบทาเลนต์ดีเวลลอปเมนต์ และ 6. ดาต้า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เข้าใจผู้บริโภค
จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาก็มีคอนเทนต์ของช่อง 3 โบยบินไปออนไลน์ในตลาดต่างประเทศบ้างแล้ว เช่นที่จีน และยังมีการนำไปออกอากาศในแพลตฟอร์มใหม่ๆ อีกเช่น OTT อย่างเน็ตฟลิกซ์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากอริยะได้บริหารจัดการก็มีบ้างทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่นการ “คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัลจำนวน 2 ช่อง คือ ช่อง 3 Family และ ช่อง 3 SD ซึ่งทำให้ช่อง 3 ได้รับเงินเยียวยาจาก กสทช. จำนวน 820 ล้านบาท ส่งผลดีต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายทีวีดิจิทัล “ลดลง” ได้มาก
หรือแม้แต่การปรับคอนเทนต์ช่อง 3 ที่เขาเริ่มต้นที่คอนเทนต์ข่าวก่อน คือ “ข่าว 3 โฉมใหม่” ด้วยคอนเซ็ปต์ “ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ปีที่แล้ว ด้วยเป้าหมายที่จะผลักดันรายการข่าวทุกรายการของช่อง 3 ก้าวขึ้นสู่เรตติ้งอันดับ 1 ในทุกแพลตฟอร์มทั้งหน้าจอทีวีและออนไลน์ ภายใน 2 ไตรมาส
ขณะที่ “ละคร” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจหลักของช่อง 3 เลยทีเดียว แผนที่จะปรับโฉมใหม่ต้นปี 2563 ด้วยแนวทางการยึดผู้บริโภคเป็นหลักที่มีหลากหลายกลุ่มตามพฤติกรรมที่ต่างกัน
แต่ทว่า ด้วยปัจจัยปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นความพร้อม เศรษฐกิจที่ไม่ดี แรงต้านแบบเงียบๆ สุดท้ายหลายโปรเจกต์ต้องสะดุดลง ยิ่งปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาแพร่เชื้อจนทำให้ธุรกิจทีวีต้องปาดเหงื่อกันเป็นแถว และช่อง 3 เองก็หนีไม่พ้นผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน
อริย เคยกล่าวหลังจากที่บริหารช่อง 3 ได้ระยะหนึ่งว่า “ยากอย่างที่คิด”
เห็นได้จากทางนีลเส็น ประเทศไทย ที่ได้เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาของสื่อทีวีในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ว่ามีมูลค่า 16,536 ล้านบาท โต2% แต่เฉพาะเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 6,138 ล้านบาท ติดลบ 2% จะเห็นได้ว่าช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยต้องมีมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. จนถึงปัจจุบัน เม็ดเงินโฆษณาถูกชะลอการใช้เงินต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ส่งผลให้แนวโน้มสื่อทีวีตลอดทั้งปี 2563 จะมีแนวโน้มอาการหนักมากกว่าปีก่อน
สถานการณ์เช่นนี้ช่อง 3 คือช่องทีวีที่จะเจ็บตัวมากที่สุด จากคอนเทนต์ที่ยังไม่เปรี้ยง ภาระต้นทุนที่มากกว่าช่องอื่น และคู่แข่งช่องรองที่ตีตื้นขึ้นมา
วินาทีนี้ช่อง 3 อยู่ในสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดเท่าที่เคยเจออุปสรรคมา ดูจากผลประกอบการ BEC (ช่อง 3) ปี 2560-2562 ที่ลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีรายได้ 11,226 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีรายได้ 10,504 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท และในปี 2562 มีรายได้ 8,779 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท
ดังนั้น การลงจากตำแหน่งของ “อริยะ” ในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้
**เหตุผลที่ “อริยะ พนมยงค์” ต้องจากลา**
ความระส่ำระสายในช่อง 3 มีสัญญาณเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน จนนำมาซึ่งมือซ้ายและมือขวาของ “อริยะ พนมยงค์” ต้องลาออกไป การลาออกของ “อริยะ” จึงน่าจะเป็นสเต็ปต่อไปเช่นกัน ส่วนสำคัญเพราะช่อง 3 มีวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว และบอร์ด คือผู้มีอำนาจสูงสุดที่มาจากระบบกงสี ทำให้ในแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน การดึงคนนอกมานั่งตำแหน่ง CEO จึงเข้าไม่ถึงคนใน ไม่มีอำนาจพอ และทำได้ยาก ที่จะควบคุมให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ในแบบองค์รวม
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือ MI ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ CEO ช่อง 3 ลาออกจากตำแหน่งว่า ในฐานะเอเยนซีได้มีการพูดคุย และได้รับสัญญาณเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จนพอมองเห็นทิศทางของช่อ ง3 ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ยิ่งเกิดปัญหาโควิด-19 เข้ามา การที่ CEO ลาออกจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ทั้งนี้ ในฐานะเอเยนซีได้วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้ “อริยะ พนมยงค์” ลาออกจากตำแหน่ง มาจาก 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้ คือ
1.สภาพตลาดสื่อทีวีที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งจากจำนวนช่องที่มากเกินไป สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี และดิจิทัลดิสรัปชัน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้อง to be fair กับ “อริยะ พนมยงค์” ด้วย เพราะไม่ว่าใครเข้ามานั่งตำแหน่งนี้ ในเวลานี้ รายได้ช่อง 3 ก็ไม่มีทางกลับมาที่จุดเดิม
2. CEO ตำแหน่งนี้ปกติจะทำงานในรูปแบบบูรณาการ แต่เนื่องจากช่อง 3 เป็นองค์กรที่มีความเป็นยูนีคสูง จากรูปแบบกงสี การที่คนนอกเข้ามานั่งตำแหน่งนี้ การทำงานจึงไม่สามารถทำได้ 100% กล่าวคือ ควบคุมไม่ได้ทุกอย่างในแบบองค์รวม
และ 3. ผลงานของ “อริยะ พนมยงค์” เอง โดยเฉพาะในเรื่องของช่องทางดิจิทัล ที่ช่อง 3 เลือกอริยะเข้ามาเพราะมีความคาดหวังสูงที่ต้องการเห็นรายได้คอนเทนต์จากช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารายได้โฆษณาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมากลับยังไม่เห็นผลงานตรงส่วนนี้ หรือมีก็น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้สปอนเซอร์โฆษณาที่หายไป
ขณะที่ปัจจุบันคอนเทนต์ที่นำเสนอยังไม่ถือว่าว้าวเท่าไหร่ แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว คอนเทนต์ที่มีเรตติ้งสูงสุดยังคงเป็น 1. ละครไพรม์ไทม์ ทั้งละครหลังข่าวและรีรันตามลำดับ 2. ข่าว และ 3. วาไรตี/เกมโชว์ช่วงเย็น
นายภวัตกล่าวต่อว่า ในฐานะเอเยนซี การที่ CEO ช่อง 3 จะลาออกไปนั้น ไม่มีผลต่อการตัดสินใจใช้เงินของลูกค้าที่ซื้อโฆษณา และการทำงานกับทางช่อง 3 ยังเหมือนเดิม ช่วงเวลาไหน คอนเทนต์ไหน ยังซื้อโฆษณาได้ง่ายก็ยังทำได้ง่ายอยู่ ช่วงไหนยากก็ยังทำยากอยู่เช่นเดิม ดังนั้น การที่นายอริยะได้ลาออกไปนั้น ในส่วนของคนนอกไม่มีผล แต่สำหรับคนในเชื่อว่าจะมีผลอย่างมาก สุดท้ายแล้วมองว่าการลาออกในครั้งนี้เป็นการลาออกที่มีการตกลงร่วมกัน และจบลงด้วยดี หลังจากนี้ก็กลับสู่สภาวะเดิม คือให้คนในประคองและดูแลไปก่อน
**มูฟออนเร็ว ดึง 3 พลังหญิงขับเคลื่อน**
อย่างไรก็ตาม ทางช่อง 3 เองก็พร้อมมูฟออนอย่างรวดเร็ว หลัง “อริยะ” ลงจากตำแหน่ง ก็ได้ชูคนในโดยเฉพาะตระกูล “มาลีนนท์” ขึ้นมากุมบังเหียนใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. รัตนา มาลีนนท์ ดูแลกลุ่มงานสนับสนุนทั้งหมด 2. อัมพร มาลีนนท์ จะดูแลกลุ่มงานผลิต งานข่าว งานรายการ และการออกอากาศ และ 3. รัชนี นิพัทธกุศล ดูแลกลุ่มงานขาย การตลาด และธุรกิจดิจิทัล ภายใต้ผู้นำบริษัท ที่ชื่อ “สมชัย บุญนำศิริ” ที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ณ เวลานี้
การฝ่าฟันของช่อง 3 เพียงแค่ตำแหน่ง CEO ที่เปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่เป็นเรื่องของการปรับตัว การต่อสู้กับตัวเองมากกว่า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ “3 พลังหญิง” จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมืออีกครั้ง ที่ช่อง 3 ใช้เดิมพัน