GC พัฒนานวัตกรรมพลาสติกทางการแพทย์ สนับสนุนวัสดุเพื่อจัดทำชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ (Protective Suit) สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะรุนแรงในห้องผ่าตัด มอบแก่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์แพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ GC อาทิ เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown) ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก InnoPlus ของ GC ซึ่งได้บริจาคไปยังโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 84,000 ชุด แล้ว และในวันนี้ GC ได้สนับสนุนตู้โควิเคลียร์ หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) ซึ่ง GC เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย และกลีเซอรีน (Glycerine) ไว้ใช้ร่วมกับตู้โควิเคลียร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องมาใช้บริการในโรงพยาบาล ในช่วงภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19
จากการหารือร่วมกับทีมแพทย์เพิ่มเติมจากหลายโรงพยาบาล ทำให้เข้าใจและพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขั้นรุนแรง GC จึงได้ร่วมจัดหาวัสดุเพื่อจัดทำชุดอุปกรณ์ป้องกันฯ จำนวน 100 ชุด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาช่วงแรก โดยในแต่ละชุดประกอบไปด้วยชุด Isolation Gown ที่ทำจากผ้าสปันบอนด์ผสม Meltblown ผลิตจากเม็ดพลาสติก PP (Polypropylene) ของบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC) บริษัทในกลุ่ม GC ชุด Coverall และหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (PAPRs) สำหรับกล่องกรองอากาศของอุปกรณ์ PAPR ต้นแบบ จะขึ้นรูปโดย GC ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งชุดอุปกรณ์ป้องกันฯ นี้จะถูกออกแบบและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อใช้ในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งนี้ คุณสมบัติของชุดอุปกรณ์ป้องกันฯ ในลักษณะ Medical Suit นี้มีมาตรฐานสูง ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและ ICU สำหรับคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อสูง เพื่อป้องกันบุคลากรที่ทำหัตถการหรือที่อยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น มิใช่การป้องกันบุคลากรสาธารณสุขโดยทั่วไป