มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล พัฒนา PAPR หรือหมวกอัดอากาศความดันบวก จนได้รับการยอมรับจากโรงพยาบาล เผยเตรียมผลิตเพิ่มอีก 500 ชุด แจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม
วันนี้ (9 เม.ย.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” เผยเรื่องราวดีๆ หลังมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล พัฒนา PAPR หรือหมวกอัดอากาศความดันบวก ขึ้นมาเพื่อใช้ใน รพ.และได้รับการยอมรับจากเครือข่าย รพ. โรงเรียนแพทย์ และจะทำการผลิดเพิ่มอีก 500 ชุด คาดว่าจะสามารถทยอยแจกจ่าย รพ.ทั่วประเทศได้ทั้งในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ได้ระบุข้อความว่า
“ข่าวดีจากคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาลมาอีกแล้วครับ คราวก่อนตอนเจอกันผมถามว่าเอาหน้ากาก full face ที่ใช้ดำน้ำไปดัดแปลงเป็นหมวกความดันบวก PAPR ได้ไหม? เขาเพิ่งบอกมาว่าทำได้แล้วครับ ทดลองแล้วใช้ได้ดี ปตท.จึงจะช่วยผลิตอีก 500 ชุดพร้อมส่งเพิ่มในเมษานี้ สรุปให้ฟังนิดว่า หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR (Powered Air-Purifying Respirator) ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับสูง คุณหมอใช้สวมตอนใส่ท่อหายใจของคนไข้ติดเชื้อรุนแรงหรือกรณีอื่นๆ
เดิมทีเรามีแค่ 40 ชุดทั้งไทย เนื่องจากราคาแพง แต่เมื่อเกิดโควิด เราจะสั่งเพิ่มก็ยากเย็นเพราะทั้งโลกล้วนต้องการ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล จึงพัฒนา PAPR ขึ้นมาเพื่อใช้ในรพ.และได้รับการยอมรับจากเครือข่ายรพ.โรงเรียนแพทย์ ปตท.และบริษัทในกลุ่มช่วยกันสนับสนุนจนแจกไปได้เกือบ 20 รพ. และจะผลิตเรื่อยๆ ให้ได้ 200 รพ. โดยเน้นต่างจังหวัด (รพ.ละ 2 ชุด รายละเอียดในโพสต์ก่อน) แต่หมวกแบบเดิมใช้เวลาทำอยู่บ้าง ขณะที่สถานการณ์ระบาดก็ไว้ใจไม่ได้ มีของมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อคุณหมอคุณพยาบาล
ข้อมูลล่าสุดคือ บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อแล้วถึง 80 ราย (ข้อมูลศูนย์โควิด) ผมเห็นข่าวว่าในอิตาลีนำหน้ากากดำน้ำสนอร์เกิ้ลแบบ full face มาดัดแปลงเป็น PAPR เลยบอกพี่เขาว่าน่าลองนะ เขานำไปพัฒนา ปรากฏว่าใช้ได้ครับ แถมปริมาตรในหน้ากากน้อย ทำให้แรงดันลมยิ่งดีใหญ่ ยังใส่กระชับรู้สึกปลอดภัย จึงกลายเป็น PAPR V3 จากวชิรพยาบาล พร้อมเข้าสู่การผลิตจริงจัง เพื่อเอาไว้เสริม V1 และ V2 เมื่อประสานกันไปมา ปตท.หาของได้แล้ว จึงสนับสนุน 500 ชุด เริ่มลงมือทำได้เลย และคงสามารถทยอยแจกจ่ายรพ.ทั่วประเทศได้ทั้งในเดือนนี้เดือนหน้า สำหรับใครที่เคยเห็นข่าวว่าเมืองนอกพัฒนาอุปกรณ์แบบนี้มาใช้ เมืองไทยก็ทำแล้วครับ และจะทำจริงจังรวดเดียว 500 ชุด หากเราคิดช่วยกัน อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แม้ทะเลกับโควิด ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันสร้างเกราะให้นักรบชุดขาวของไทยที่ตอนนี้รับศึกหนักมาก เพื่อต่อสู้นำพาประเทศให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้
โดยเฉพาะวชิรพยาบาลกับ ปตท.ที่จับมือช่วยกันทำงานต่อเนื่อง ภายใต้การประสานงานของศาสตราจารย์ สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย NMU เยี่ยมสุดๆ ครับ”