“พาณิชย์” เปิดผลสอบการบริหารจัดการ “หน้ากากอนามัย” พบช่วงเวลาทำงาน 07.00-17.00 น. ไม่พบช่องโหว่ เหตุมีคนจากกรมการค้าภายในและทหารเข้าไปควบคุม แต่หลังเลิกงานไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ชี้อาจมีช่องโหว่ให้ขายหลังโรงงาน กักตุนไว้ขายทำกำไรได้หลังความต้องการพุ่ง รอลุ้นปลัดพาณิชย์พิจารณาต่อจะดำเนินการอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมี.ค. 2563 โดยมีนายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการ เช่น ตำรวจ, กฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว และได้ส่งผลการสอบไปให้นายบุณยฤทธิ์แล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาดำเนินการต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผลการตรวจสอบ ได้ตั้งประเด็นว่าการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อย. องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น มีช่องโหว่จริงหรือไม่ จนนำมาซึ่งการกักตุนหน้ากากอนามัย และส่งออก
ทั้งนี้ หลังจากการตรวจสอบ ทั้งจากเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกรมการค้าภายใน พบว่าตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. ที่มีการส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในและทหาร ไปเฝ้าที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่งเพื่อเช็กสต๊อก และต้องส่งทุกชิ้นที่ผลิตได้ให้ศูนย์บริหารจัดการฯ เพื่อนำไปกระจายต่อให้แก่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง และประชาชน ไม่มีช่องโหว่ที่จะทำให้หน้ากากอนามัยหลุดลอดเข้าสู่ช่องทางการค้าปกติได้
แต่หลังจากพ้นช่วงเวลาควบคุม หรือตั้งแต่ 17.01 น.เป็นต้นไปพบว่ามีช่องโหว่จริง เพราะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้นั้นจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะอาจจะมีความเป็นไปได้ที่โรงงานจะแอบขายหลังโรงงานให้แก่ผู้ที่ต้องการ เพราะกรมการค้าภายในกำหนดให้ขายให้ศูนย์บริหารจัดการฯ เพียงชิ้นละ 2 บาท หรือทำการกักตุน หรือซุกซ่อนบางส่วนที่ผลิตไว้ แล้วขายทำกำไรภายหลัง เพราะตอนนั้นมีการแจ้งกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น แต่ต่อมาสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านชิ้น และจะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านชิ้นในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบในครั้งนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่พุ่งเป้าไปที่วิธีการบริหารจัดการ และผลการตรวจสอบนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัยทั้งหมดที่มีการร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงาน ทั้งกากกักตุน การส่งออก และการเอาเปรียบประชาชนในรูปแบบต่างๆ โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานอื่น มีการสอบลงลึกมากกว่าของกระทรวงพาณิชย์ เพราะมีการสอบไปถึงเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้อง และผู้ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในขบวนการกักตุน และส่งออกด้วย
“แม้ผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การหาความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่การจะเอาผิด หรือไม่เอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ก็สามารถพิจารณาจากเจตนาของการกระทำ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ประมาท เลินเล่อจนทำให้เกิดช่องโหว่หรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกันกับโรงงานหรือไม่ หรือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโรงงานทุกซอกทุกมุม ได้มีการดำเนินการแล้วหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของปลัดกระทรวงพาณิชย์” รายงานข่าวระบุ