xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ขยายเวลาห้ามส่งออก “ไข่ไก่” อีก 30 วัน หวังดูแลประชาชนให้มีบริโภคเพียงพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เคาะขยายระยะเวลาห้ามส่งออก “ไข่ไก่” อีก 30 วัน ดูแลไข่ไก่ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนในประเทศ เผยยังได้จับมือกรมปศุสัตว์ยืดอายุแม่ไก่ยืนกรงเพื่อให้ปริมาณไข่ไม่ลดลง กำหนดราคาหน้าฟาร์มไม่เกินฟองละ 2.80 บาท เร่งรัดกระจายสินค้าเข้าห้าง พร้อมเดินหน้าดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดต่อเนื่อง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่เป็นระยะเวลา 7 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งจะมีการขยายระยะเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ออกไปอีกเป็นเวลา 30 วัน ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติให้อำนาจเอาไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลสถานการณ์ไข่ไก่ในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และจะยกเลิกมาตรการทันทีที่สถานการณ์ไข่ไก่ในตลาดในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตไข่ไก่จำกัดอยู่ที่ประมาณวันละ 40 ล้านฟองเท่าเดิม แต่ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่าตัว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมาตรการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ดีที่สุด ตั้งแต่การร่วมมือกับกรมปศุสัตว์กำหนดมาตรการในการยืดอายุแม่ไก่ยืนกรง โดยยืดออกไปจาก 72 สัปดาห์ เป็น 80 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลง เพราะแม่ไก่จะให้ไข่ไก่ในปริมาณมากกว่าไก่สาว

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันกำหนดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มให้อยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท ซึ่งได้รับความร่วมมือจากฟาร์ม และสมาคมผู้ผลิตไข่ไก่หลายสมาคม, เร่งรัดให้ฟาร์มต่างๆ ส่งไข่ไก่ไปยังศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะห้างค้าปลีกค้าส่ง เพื่อให้ศูนย์กระจายขายของแต่ละห้างเร่งกระจายออกไปสู่ร้านค้าปลีกหรือปลายทางได้คล่องตัวขึ้น และห้างสรรพสินค้าหรือห้างค้าส่งค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรดได้มีการจำกัดราคาซื้อเพื่อให้สามารถกระจายไข่ไปยังผู้บริโภคหลายรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นน้ำและกลางน้ำ หากพบว่ามีพฤติกรรมกักตุนสินค้าหรือค้ากำไรเกินควร คณะทำงานในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น