xs
xsm
sm
md
lg

ฟูดดีลิเวอรีปรับตัวยุค COVID-19 นวัตกรรมส่งอาหาร ไม่ส่งเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดอย่างหนักทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลากหลายธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อรับมือด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

โดยเฉพาะเรื่องฟูดดีลิเวอรีที่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเกี่ยวกับอาหารและการบริโภคโดยตรง ท่ามกลางการปิดบริการร้านอาหารทั้งหลายที่ไม่เปิดบริการรับประทานในร้าน แต่ขายเฉพาะเทกโฮมและดีลิเวอรีหรือจัดส่ง ตามคำสั่งมาตรการของภาครัฐบาล

ในยุคนี้จึงจะเห็นได้ว่าบริการฟูดดีลิเวอรีของเอกชนหลายรายหรือแทบจะทุกราย ทั้งที่เป็นร้านอาหารหรือพวกฟาสต์ฟูดเอง เช่น เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เป็นต้น หรือบรรดาฟูดอัลกริเกเตอร์ต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหาร เช่น ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า แกร็บ เก็ท ลาล่ามูฟ และอื่นๆ เป็นต้น ต่างก็ต้องมีการปรับวิธีการการบริการ หรือสร้างมาตรการใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ถือเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้เพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างแท้จริง


ที่เห็นชัดๆ เป็นรายแรกๆ ก็คือ เคเอฟซี กับ แกร็บ ที่เปิดตัวบริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส “Contactless Delivery”


นายเศกไชย ชูหมื่นไวย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Brand Strategy and Integration เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เคเอฟซีจึงได้ออกแบบและนำเสนอบริการใหม่ “Contactless Delivery” หรือ “บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส” เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องระยะห่างทางสังคม (Social Distance) โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นตอนการสั่ง-สั่งผ่านเว็บไซต์ kfc.co.th หรือแอปพลิเคชัน KFC Thailand ระบุความต้องการใช้บริการ Contactless ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ Rabbit Line Pay
2. ขั้นตอนการบรรจุ-พนักงานร้านผู้ดูแลออเดอร์เป็นคนจัดอาหาร บรรจุ และตรวจคุณภาพอาหารก่อนผูกมัดถุง และนำอาหารจัดใส่กระเป๋าขนส่งของพนักงานจัดส่ง
3. ขั้นตอนการส่ง-พนักงานส่งเดินทางไปยังจุดหมาย โทร.หาลูกค้า เชิญลูกค้าหยิบถุงบรรจุอาหารออกจากกระเป๋าจัดส่งเอง และเว้นระยะห่างในการยืนรอ

“หากเทียบกับการส่งในรูปแบบเดิมที่มีการส่งอาหารถึงมืออาจต้องสัมผัสมือกัน ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงได้ ตั้งแต่การรับเงิน การส่งอาหาร และการพูดคุยกันในระยะใกล้ แต่บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัสนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการสัมผัส และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับลูกค้า” นายเศกไชยกล่าว


ทั้งนี้ เคเอฟซีทุกสาขาได้เพิ่มการดูแลและความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอย่างเข้มข้นในพื้นที่ร้าน รวมถึงความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น เคาน์เตอร์ชำระเงิน เคาน์เตอร์สำหรับจัดเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เคาน์เตอร์สำหรับจัดวางภาชนะอุปกรณ์สำหรับบริการลูกค้า พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับพนักงานเรื่องไวรัสโควิด-19 มีการตรวจอุณหภูมิก่อนการเข้าทำงานทุกวัน หากพนักงานร้านและพนักงานส่งอาหารมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37 หรือมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ จะให้หยุดปฏิบัติงานและพบแพทย์ทันที


ทางด้านแกร็บฟู้ดก็เป็นอีกรายที่เริ่มเป็นรายแรกๆ

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แกร็บจึงได้เปิดตัวบริการแบบไร้การสัมผัส หรือ Contactless Delivery โดยการเว้นระยะห่างตามมาตรการ โซเชียลดิสแทนซิ่ง (Social Distancing) โดยประกาศใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 รวมทั้งยกระดับการดูแลสุขอนามัยของพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ด้วยการจัดหาหน้ากากอนามัย รวมถึงร่วมกับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารในการดูแลความสะอาดของการเตรียมอาหารและภาชนะที่ใช้ในการส่งอาหารด้วย

โดยขั้นการส่งอาหารแบบไร้การสัมผัส คือ
1. ลูกค้าระบุจุดรับ-ส่งอาหาร ผ่านการส่งข้อความทางแชต
2. ผู้ขับขี่แกร็บฟู้ดแจ้งลูกค้าเมื่อเดินทางถึง เมื่อผู้ขับทำการส่งอาหารในจุดที่แจ้งไว้ให้วางอาหารไว้บนกระเป๋าส่งอาหารและรอให้ลูกค้าออกมารับโดยทิ้งระยะห่างระหว่างผู้ขับกับลูกค้า 2 เมตร ซึ่งผู้ขับจะต้องหมั่นทำความสะอาดหรือล้างมือก่อนสัมผัสบรรจุภัณฑ์เสมอ
3. ในกรณีลูกค้าต้องการให้ผู้ขับฝากอาหารไว้ที่หน้าประตูบ้าน หรือสถานที่ที่ต้องการ เช่น ล็อบบี้ ลูกค้าสามารถระบุได้ผ่านข้อความทางแชต
4. แนะนำให้ลูกค้าเลือกวิธีชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางแกร็บเพย์ (GrabPay) เพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่อาจสะสมมากับธนบัตร


อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องชำระด้วยเงินสด แนะนำให้ลูกค้านำเงินใส่ซองและวางไว้บริเวณจุดส่งอาหาร โดยให้ทุกฝ่ายเว้นระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตรตลอดเวลา


แกร็บยังรณรงค์ให้ลูกค้าลดการจับต้องเงินสดด้วยการชำระเงินผ่านแกร็บเพย์เมื่อเรียกใช้บริการต่างๆ ของแกร็บ ไม่ว่าจะเป็น บริการด้านการเดินทาง การส่งของ การสั่งอาหาร ตลอดถึงการเติมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความรวดเร็ว สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น


แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นการพัฒนาการบริการที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากมายนัก แต่ก็เป็นการพัฒนาระบบ
ด้วยความรับผิดชอบทางด้านสุขอนามัยที่ชัดเจนได้อย่างดียิ่ง


ทั้งนี้ แบรนด์ต่างๆ ก็เริ่มมีการนำแนวทางไร้การสัมผัสนี้มาใช้กันมากขึ้น และมีการปรับแนวทางการบริการเพื่อความปลอดภัยมากที่สุด


นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า เราใช้มาตรการเข้มงวดเชิงรุกในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทั้งภายในร้าน บริการไดรฟ์ทรู และแมคดีลิเวอรี พร้อมจัดโปรโมชันให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าทุกคนที่ใช้บริการแมคโดนัลด์


แมคโดนัลด์ได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในการจัดส่งอาหาร ด้วยการจัดส่งอาหารแบบไร้การสัมผัส (Contactless) มาใช้กับแมคดีลิเวอรีผ่านพนักงานที่ได้รับการอบรมตามมาตรฐานแมคโดนัลด์ โดยพนักงานจะต้องล้างมือด้วยสบู่เหลวฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งก่อนจัดอาหาร ตรวจสอบรายการอาหารและปิดผนึกด้วยสติกเกอร์ ก่อนนำถุงอาหารบรรจุลงกระเป๋าที่ใช้แผ่นความร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิของอาหารให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา และพนักงานต้องทำความสะอาดด้วยเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคอีกครั้งก่อนหยิบถุงอาหารวางหรือแขวนไว้หน้าบ้านให้แก่ลูกค้า เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ลูกค้าที่ใช้บริการแมคดีลิเวอรี

นายอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ฟู้ดแพนด้าได้ปรับบริการดังนี้ คือ

1. เมื่อมีการสั่งซื้อ ลูกค้าสามารถเลือกการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกับพนักงานส่งอาหาร
2. ด้วยระบบการไลฟ์แชตกับพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ทั้งลูกค้าและพันธมิตรด้านบริการจะสามารถแจ้งได้ หากต้องการเลือกการส่งมอบสินค้าแบบไม่มีการสัมผัส
3. เมื่อมีการตกลงเลือกใช้ พนักงานส่งอาหารจะนำสินค้าไปวางยังจุดส่งมอบที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือออฟิศของลูกค้า
4. พนักงานส่งอาหารจะแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าอาหารส่งมาถึงแล้วผ่านทางระบบไลฟ์แชตหรือโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่เลือกไว้
5. ลูกค้าตรวจดูความถูกต้องของสินค้าและเพลิดเพลินกับอาหารได้อย่างมั่นใจ โดยสามารถลดการติดต่อสัมผัสให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด


นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ (OISHI) กล่าวว่า โออิชิพร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านผ่านแพลตฟอร์มของเราเอง ได้แก่ “โออิชิดีลิเวอรี” มาพร้อมอาหารญี่ปุ่น เช่น เบนโตะ (หรือข้าวกล่องญี่ปุ่น) ซูชิ มากิ ฯลฯ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน “โออิชิ อีทโตะ” และเครื่องดื่ม “โออิชิ กรีนที” สั่งง่ายผ่าน 2 ช่องทางหลัก (1) โทร. 1773 หรือ (2) สั่งซื้อทางออนไลน์คลิก www.oishidelivery.com ซึ่งเว็บไซต์โออิชิดีลิเวอรียังมีฟีเจอร์พิเศษ คือ “Click & Collect” ให้ลูกค้าสามารถทำการสั่งซื้ออาหารล่วงหน้าทางออนไลน์และเลือก “รับสินค้าที่สาขา” พร้อมระบุวันที่ เวลา และสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ ได้ตามความสะดวกและความต้องการ โดยไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม


ทางด้านศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ ชู Food Delivery Pick Up Counter ‘ห่างกาย แต่ไม่ห่างความอร่อย’ เปิดจุด Pick-up counter ให้ร้านค้ามารับ Delivery และ Take Away พร้อมร่วมกับ Delivery platform ทุกรายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เน้นย้ำเป็นพิเศษเรื่องมาตรการ Social distancing จัดระเบียบที่นั่งให้พนักงาน delivery นั่งคอย โดยมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร เน้นปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวดถึง 7 มาตรการเพื่อความปลอดภัยของพนักงานรับส่งอาหาร

1. เน้นย้ำเป็นพิเศษเรื่องมาตรการ Social distancing จัดระเบียบที่นั่งให้พนักงาน delivery นั่งคอย โดยมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร
2. ทำการฉีดพ่นยาในบริเวณพื้นที่ที่เปิดให้บริการทุกวัน
3. การตรวจคัดกรองพนักงาน และร้านค้า และพนักงานทุกคนให้สวมใส่หน้ากาก
4. การตรวจคัดกรอง วัดไข้พนักงานบริการ delivery ทุกคน
5. ทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่สวมใส่หน้ากาก
6. ใช้เจลแอลกฮอล์ล้างมือก่อนเข้าศูนย์ฯ
7. ขอความร่วมมือไม่จับกลุ่มหรือยืนคุยกัน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในหลายๆ ส่วนจากบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ที่นำมาตรการต่างๆ มาใช้กับการจัดส่งอาหารในยามที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค




กำลังโหลดความคิดเห็น