สสว. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอดึง โมเดล BCG หนุนสร้างเครือข่าย 5 คลัสเตอร์ เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างสรรค์ สู่แฟชั่นไลฟ์สไตล์ รองรับความต้องการยุคดิจิทัลและการเติบโตของอุตสาหกรรม S-curve
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินโครงการ สนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2563 หรือคลัสเตอร์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและไลฟ์สไตล์ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวคิด BCG Fashion Lifestyle โดยถอดแนวคิดจาก BCG Economy Model เพื่อนำประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 5 เครือข่ายธุรกิจ
ประกอบด้วยเครือข่ายคลัสเตอร์สิ่งทอการกีฬาและนันทนาการ (Sporttech Cluster) คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง (Hemp Fiber Cluster) คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและไลฟ์สไตล์สำหรับผู้สูงอายุ (Aging Lifestyle Cluster) คลัสเตอร์ชุดเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมสันทนาการแต่งตัวเลียนแบบตัวละคร (Cosplay Cluster) และคลัสเตอร์สิ่งทอหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน (Circular Textile Cluster)
“ BCG Economy Model ที่ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B -> Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า C -> Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประโยชน์มากที่สุด G -> Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว นั้นเป็นรูปแนวคิดที่จะทำให้ทรัพยากรมีการหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจึงได้นำมาปรับใช้กับการพัฒนาสิ่งทอร่วมกัน”ดร.วิมลกานต์กล่าว
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับ 5 คลัสเตอร์นี้ ถือเป็นดาวเด่นที่สามารถเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการได้ รวมทั้งมีปัจจัยเกื้อหนุน แนวโน้ม และโอกาสทางการตลาด เช่น คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและไลฟ์สไตล์สำหรับผู้สูงอายุ กำลังเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และเริ่มมีความต้องการซื้อสูง เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อการปกป้อง ดูแลและรักษาสุขภาพ เนื่องจากในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
คลัสเตอร์สิ่งทอการกีฬาและนันทนาการ ทางเลือกคนรักการออกกำลังกายที่มาพร้อมเทรนด์แฟชั่น และฟังก์ชั่น เช่น เสื้อผ้ากีฬาดีไซน์สวย สวมใส่สบายระบายเหงื่อได้ดี คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกบนพื้นที่ราบสูงในประเทศ โดยสามารถพัฒนาเป็นเส้นใยธรรมชาติ แปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือ นำมาพัฒนาเป็นชิ้นส่วนยานยนต์
คลัสเตอร์ชุดเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมสันทนาการแต่งตัวเลียนแบบตัวละคร กลุ่มธุรกิจเฉพาะ ที่มีศักยภาพสูง ต้องการองค์ความรู้ ด้านการตัดเย็บ และการเลือกใช้วัสดุที่มีความแปลกใหม่ เช่น ใส่แล้วยับยาก ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานได้ที่คงทนและการสวมใส่ที่บ่อยแต่ไม่ต้องซัก เป็นต้น
คลัสเตอร์สิ่งทอหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปฏิรูปแนวคิด กระบวนการด้านการออกแบบ การเลือกใช้วัตถุดิบ เปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่า แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
“ ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SME 675 ราย เกิดการสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์ พัฒนาผู้นำและผู้ประสานงานคลัสเตอร์ (CDA) พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเชิงลึก และส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ผู้ใช้งานในยุคดิจิทัล และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve ตามนโยบายของภาครัฐได้ “ดร.ชาญชัยกล่าว