ปตท.ร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี และศิริราชร่วมพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสCOVID-19 เบื้องต้นพบว่าใช้เวลาตรวจรู้ผลเร็วแค่ 30-45 นาทีและราคาต่ำเพียง 500 บาทเมื่อเทียบกับชุดตรวจวินิจฉัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยขณะนี้ได้ให้ทางศิริราชทดสอบความแม่นยำก่อนที่จะผลิตใช้กระจายให้โรงพยาบาลทั่วไป ด้านกลุ่มปตท. ควัก3 ล้านสั่งซื้อสารเคมีนำเข้าเพื่อมาผลิตชุดตรวจโรคไวรัสCOVID-19
วันนี้ (17 มี.ค.) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัส COVID-19 ที่สามารถตรวจวินิจฉัยรู้ผลได้เร็วภายใน 30-45 นาที รวดเร็วกว่าวิธีการตรวจแบบปัจจุบันที่ใช้เวลานาน 4-6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยชุดตรวจดังกล่าวมีราคาที่ต่ำเพียง 500 บาท/ราย เมี่อเทียบจากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 3,000-13,000 บาท/ราย
ทั้งนี้ทางสถาบันวิทยสิริเมธีนำองค์ความรู้ของบุคลากรสถาบันฯ เร่งพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 โดยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากสถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ในการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัส COVID-19 ให้สามารถตรวจโรคได้เร็ว โดยได้นำชุดตรวจ COVID-19 ให้กับทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ในทดสอบ
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มปตท. ได้ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อสารเคมีจากต่างประเทศที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ราว 1 แสนชุด คาดว่าสารเคมีดังกล่าวจะมาถึงไทยเพื่อผลิตได้ราว 2สัปดาห์ จากปัจจุบัน VISTEC มีสต็อกที่จะผลิตได้ 1 หมื่นชุด โดยหากมีความต้องการชุดตรวจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ก็จะมอบให้ทางองค์การเภสัชกรรมเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ในปริมาณสูง
ด้านศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ศิริราชฯ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของการใช้งานของชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 มาแล้ว 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการใช้คู่ขนาดกับวิธีการตรวจวิจัยผู้ป่วย COVID-19 แบบทั่วไป ซึ่งผลการตรวจพบว่าชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ดังกล่าวได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ และรวดเร็วเมือนชุดการทดสอบหญิงตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ทางศิริราชก็จะใช้ทดสอบอีกระยะหนึ่งครอบคลุมจำนวนผู้ป่วยประมาณ 100-200 ราย เพื่อให้มั่นใจว่าชุดตรวจดังกล่าวมีความแม่นยำพอ เพื่อลดขั้นตอนในการส่งไปตรวจซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลตรวจทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อกรณีที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรือ เข้าสู่ระยะการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ COVID-19 ระยะที่ 3
“จากการทดสอบเบื้องต้น ชุดตรวจนี้ มีจุดเด่น รู้ผลเร็ว ราคาถูก และใช้ได้ทั่วถึง ซึ่งศิริราชฯ ขอเวลาทดสอบความแม่นยำ ซึ่งหากผลออกมาแม่นยำสูง ก็จะกระจายชุดตรวจไปยังโรงพยาบาลต่างๆต่อไป ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ทางการแพทย์เป็นผู้ทดสอบเพราะต้องทดสอบกับสารคัดหลังจากที่อยู่ทางเดินหายใจส่วนบนของผู้เข้าตรวจ ”
ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า ชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 เบื้องต้น ทาง VISTEC จะเป็นผู้ผลิตก่อน แต่ในระยะต่อไป หากความต้องการใช้มากขึ้น ก็อาจจะต้องหาความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อขยายกำลังการผลิตในระยะต่อไป
ด้านผศ.ดร. ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีว สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจุลชีววิทยา เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลินิกแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการในขั้นตอน Clinical Trial ในเดือนเมษายนนี้ โดยชุดวินิจฉัยดังกล่าวได้พัฒนารูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งานเพื่อให้ได้ผลตรวจที่รวดเร็ว เบื้องต้นVISTEC มีความสามารถในการผลิตอยู่ 4พันชุด/วัน