ผู้จัดการรายวัน360 - กูเกิ้ล เสิร์ช เผย 5 เทรนด์หลักปี 63 สู่แนวโน้มสำคัญของธุรกิจไทย รองรับคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตถึง 50 ล้านคน นำไปวางแผนการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 50 ล้านคนในไทย และในจำนวนนี้มีผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือคิดเป็น 95% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มักค้นหาข้อมูลผ่าน Google และ YouTube
นี่คือ 5 เทรนด์สำคัญจากรายงานของ Google ในหัวข้อ “Year in Search Thailand: Insights for Brands 2020 ที่เปิดเผยโดย สายใย สระกวี และ ไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่
1. การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้อยู่แค่ในหัวเมืองใหญ่ จากการที่ผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังไล่ตามผู้บริโภคในหัวเมืองใหญ่ๆ มาอย่างใกล้ชิด โดยมูลค่าการใช้จ่ายบนอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคกลุ่มนี้เติบโตเร็วกว่าผู้บริโภคในเขตเมืองหลักและโดยรอบถึงสองเท่า
สาเหตุหลักนั้นเกิดจากปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับยานยนต์กว่า 80% มาจากผู้บริโภคในต่างจังหวัด, ปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับอาหารและของใช้กว่า 80% มาจากผู้บริโภคในต่างจังหวัด, ปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับสินค้าความงามและการดูแลตัวเองกว่า 75% มาจากผู้บริโภคในต่างจังหวัด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคในต่างจังหวัดไม่ได้ถูกจำกัดด้วยความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีอีกต่อไป และอินเทอร์เน็ตกลายเป็นทางเชื่อมสู่โอกาสและความฝันของพวกเขา
2. ธุรกิจแบบ on-demand กำลังเติบโต ปัจจุบันความคาดหวังของผู้บริโภคชาวไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ผู้บริโภคต่างคาดหวังความสะดวกสบายจากทุกธุรกิจที่พวกเขาติดต่อและทำธุรกรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณการค้นหาบริการเรียกรถออนไลน์เพิ่มขึ้น 127%, ปริมาณการค้นหาบริการส่งของเพิ่มขึ้น 85%
นอกจากนี้ ความต้องการได้รับการตอบสนองแบบตรงจุดของผู้บริโภคยังสามารถเห็นได้จากการค้นหาสินค้าบน Google Search ที่มีความเฉพาะเจาะจงและตรงกับความต้องการส่วนตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการค้นหา “คอนโด ตลาดพลู” เพิ่มขึ้น 245%, ปริมาณการค้นหา “รองเท้าวิ่ง ผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 127% เป็นต้น
3. Omnichannel กลายเป็นวิถีชีวิตของผู้บริโภคไทย ผู้บริโภคชาวไทยกำลังมองหาประสบการณ์การซื้อสินค้าและบริการที่ราบรื่น ไม่มีสะดุด ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เส้นทางสู่การตัดสินใจซื้อมีความซับซ้อนมากขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น พฤติกรรมแบบ Web-rooming : 1 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทย ใช้ Google Search เพื่อค้นหาข้อมูล ขณะตัดสินใจซื้อของที่หน้าร้าน, การค้นหารีวิวผลิตภัณฑ์บน YouTube : รีวิวเกี่ยวกับรถยนต์ บ้าน และกล้อง ถูกค้นหามากที่สุดบน YouTube, การค้นหาระหว่างเดินทาง : การค้นหาคำว่า “ใกล้ฉัน” เติบโตขึ้นในทุกหมวดหมู่ โดยมีบริบทและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป
อาหาร : การค้นหา “หมูกระทะ ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 203% และ การค้นหา “เบเกอรี่ ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 163%, ยานยนต์ : การค้นหา “อู่รถ ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 133% และ การค้นหา “ปั๊มน้ำมัน ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 156%, การเสริมสวย : การค้นหา “ร้านทำผม ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 376% และ การค้นหา “ร้านสปา ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 163% และการท่องเที่ยว : การค้นหา “ที่เที่ยว ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 733%
4. ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด จากการเข้าถึงด้วยสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ความมีเสถียรภาพของธุรกรรมออนไลน์ ความไว้วางใจของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็น การค้นหา “บัตรเครดิต” เพิ่มขึ้น 1.3 เท่า, การค้นหา “บัตรเดบิต” เพิ่มขึ้น 1.3 เท่า หรือการที่ผู้บริโภคยังใช้ Google Search เมื่อเจอปัญหาในการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินออนไลน์ โดยปัญหาที่ผู้บริโภคพบบ่อยที่สุดในการใช้แอปธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ “วิธีสมัคร” “เปลี่ยนเบอร์” และ “ใช้ไม่ได้”
5. ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายอย่างมีจิตสำนึก เนื่องจากเมื่อประสบกับผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมาก จึงหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยมีการค้นหาข่าวและกฎระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
รวมทั้งหันมาให้ความสนใจวิธีการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น การค้นหา “PM 2.5” และ “หน้ากาก N95” เพิ่มขึ้น 100 เท่า, การค้นหา “รถยนต์ไฟฟ้า” และ “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” เพิ่มขึ้นมากกว่า 250% และ การค้นหาเกี่ยวกับ “ประหยัดไฟ” เพิ่มขึ้น 163%
ทาง กูเกิ้ล เสิร์ช ได้สรุปผลสำรวจในครั้งนี้ ว่า การเรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจและให้ความสำคัญ เป็นสิ่งที่ธุรกิจต่างๆ ต้องหมั่นทำอยู่เสมอเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง