xs
xsm
sm
md
lg

TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ ครั้งที่ 2 เสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน สร้างนวัตกรรมแห่งความยุติธรรมเพื่อทุกคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาเป็นประเด็นที่ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มของอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่ท้าทายความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคอาเซียน ในการนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice - ACCPCJ) จึงได้จัดการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่27 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา ภายใต้ธีม “การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมทางยุติธรรมเพื่อทุกคน” (Promoting the ASEAN Culture of Prevention for a Collaborative and Innovative Justice for All) โดยมุ่งประเด็นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime)  โดยการประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นภายไต้กรอบการดำเนินงานของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM)
 
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 และพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมความว่า “อาชญากรรมไซเบอร์มีการพัฒนารูปแบบและความซับซ้อนอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากหลายคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ และการฉ้อโกงทางเศรษฐกิจ ด้วยความเร็วและการแพร่กระจายของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งผลให้อาชญากรรมที่มีรูปแบบซับซ้อนนี้มีความเสี่ยงจะสร้างความเสียหายต่อประชากรของเราในอัตราที่น่าตกใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายการป้องกันจากต้นน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงดังกล่าว เราต้องเสริมความแข็งแกร่งในการร่วมมือระหว่างพันธมิตรและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์อย่างสอดประสานกัน”
 
การประชุมระดับอาเซียน ACCPCJ ครั้งที่ 2 นี้ ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน
 
“หลายปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้น อาชญากรต่างก็เสาะหาช่องว่างและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการก่ออาชญากรรม ประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัย
ความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าว และชี้ว่า “ACCPCJ ครั้งที่ 2 นี้จะช่วยส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างลึกซึ้ง และยังเป็นโอกาสที่ผู้นำระดับสูงของอาเซียนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมได้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการป้องกันและต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวจากหลากหลายมุมมอง”
 
นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปถึงความสำคัญของการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ว่า “การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ โดยเราได้ประสานหน่วยงานที่ดูแลสาขาอื่นของอาเซียนเข้ามาร่วมอภิปรายด้วย ทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน เพราะในมิติของการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากอาชญากรรมไซเบอร์มีความเกี่ยวข้องในมิติอื่นๆ ทั้งสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล สังคม ประเทศ และภูมิภาค เช่น การฉ้อโกงผ่านทางระบบการเงินออนไลน์ การลักลอบขโมยข้อมูลองค์กร การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ รวมถึงการค้ามนุษย์ เป็นต้น
 
การประชุมครั้งนี้จึงเป็นความพยายามของ TIJ ที่ช่วยประสานประเด็นในทุกมิติจากผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ไม่เฉพาะในระดับผู้ใหญ่ แต่รวมถึงเยาวชนที่ถือเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งโลกยุคใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล และออกแบบแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่ครอบคลุม ทั้งนี้ข้อสรุปจากการอภิปรายที่ถือเป็นฉันทามติร่วมกันนี้ จะถูกนำไปพัฒนาแนวทางการป้องกันอาชญากรรมและอาชญากรรมไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
 
ในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยการอภิปรายใน 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ “การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมยุติธรรมเพื่อทุกคน” และ “ความท้าทายของอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน” และการอภิปรายใน 3 หัวข้อหลักที่มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ได้แก่
 
• หัวข้อหลัก 1 : วัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention)
- การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมทางยุติธรรมเพื่อทุกคน (Promoting Prevention through a Culture of Good Governance and Respect)
- การส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรมด้วยวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและทางสายกลาง (Promoting Prevention through a Culture of Peace and Moderation)  
 
• หัวข้อหลัก 2 : กฎหมายและความยุติธรรม (Law and Justice)
- ความร่วมมือนานาชาติว่าด้วยเรื่องอาชญากรรม (International Cooperation in Criminal Matters)
- กรอบแนวทางการกำหนดกฎหมายและนโยบายระดับชาติ (National Legislative Framework)
• หัวข้อหลัก 3 : นวัตกรรมและความร่วมมือ (Innovation and Collaboration)
- การร่วมมือกันสร้างเสริมศักยภาพบุคลากรอาเซียน (Promoting Capacity Building through Partnership)
- โอกาสและความท้าทายในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Opportunities and Challenges of Industry 4.0)
 
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมดังกล่าว TIJ ยังได้จัดการเสวนาเยาวชน (TIJ Youth Forum) คู่ขนาน
ในวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ เพื่อเสริมบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วภูมิภาคเข้ามาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นปัญหาในสังคม ในธีมที่สอดคล้องกับการประชุม ACCPCJ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของอาชญากรรมไซเบอร์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกอย่างไร้พรมแดน โดยใช้เครื่องมือ
 
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในการแก้ไขประเด็นปัญหาสำคัญในสังคม ตลอดจนใช้วิธีการคิดแบบ Foresight Design Thinking มาคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อร่วมกันหาทางป้องกันด้วย ทั้งนี้ TIJ จะนำผลจากการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 นำเสนอต่อที่ประชุมของ ASEAN ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของประชาคมอาเซียนให้รับมือต่อปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น