ราช กรุ๊ปจับตาภัยแล้ง ประเมินสถานการณ์เขื่อนน้ำงึม 2 ในลาว ส่อแววลดกำลังผลิตหากปริมาณน้ำน้อย ยันไวรัสโควิด-19 ไม่กระทบการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีน มั่นใจเสร็จจ่ายไฟตามแผนปีหน้า
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 จะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนหรือไม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ที่ สปป.ลาว ซึ่งอาจจะต้องปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงหากปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนน้อย ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทอยู่ที่ 153.75 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 มีกำลังผลิตรวม 615 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 42% บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 25% และ EDL-Generation PLC (EDLGen) 25%
ส่วนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว มีปริมาณน้ำเพียงพอจึงยังไม่มีผลกระทบจากภัยแล้ง
นายกิจจากล่าวว่า แม้โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลง แต่ส่งผลดีต่อโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสาที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อาจจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตมาชดเชยให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะส่งมาจำหน่ายให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้น
โรงไฟฟ้าหงสาเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนร่วมทุนของบริษัท รวม 751.20 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว 20%, บมจ.บ้านปูเพาเวอร์ 40% และ บมจ.ราช กรุ๊ป 40%
ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีปัญหาจากภัยแล้ง เนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ
นายกิจจากล่าวว่า กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง แต่การใช้พลังงานโดยรวมของประเทศยังเติบโต ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าของบริษัททุกแห่งมีความพร้อมในการผลิต ดังนั้น หากกรณีการใช้ไฟฟ้าชะลอตัว หรือถูกสั่งให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า บริษัทก็จะได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่แล้ว คาดว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก
ส่วนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 หน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 กำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์ (รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,360 เมกะวัตต์) ในประเทศจีนนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่นกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอู่ฮั่น และไม่ได้มีการประกาศจากรัฐบาลจีนให้หยุดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น โรงไฟฟ้าฯ จะแล้วเสร็จตามแผน คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) และรับรู้รายได้ในปี 2564 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเพิ่มจากการลงทุนในโครงการนี้อีก 236 เมกะวัตต์
โครงการฯ นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง China General Nuclear Power Corporation (“CGN”) ถือหุ้นสัดส่วน 51%, Guangxi Investment Group Company Limited (“GIG”) ถือหุ้นสัดส่วน 39% และบริษัท Ratch China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของราช กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 10%
บริษัทยังเร่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการที่มีอยู่แล้วให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น ในปีนี้โครงการนวนคร เฟสที่ 2 ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าราว 60 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ และเร่งลงนามสัญญาโครงการระบบเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มกิจการค้าบีจีเอสอาร์ มูลค่า 28,000 ล้านบาท และสายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่า 33,000 ล้านบาท หลังผ่านการคัดเลือกจากกรมทางหลวงแล้ว