xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้ง-ถนนทรุด! ทช.วางมาตรการ 3 ระยะ รับมือ-เร่งซ่อมแซม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้ถนนเลียบคลองชลประทานเกิดการทรุดตัวหลายแห่ง กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เตรียมพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงต่อการทรุดตัว เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ให้ทุกหน่วยดำเนินการเตรียมความพร้อม ดังนี้
1. ตรวจสอบพื้นที่หรือสายทางที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว โดยจัดชุดลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวและประเมินความเสียหายเบื้องต้น ในกรณีที่ความเสียหายอยู่ในระดับไม่รุนแรง การแก้ไขหรือการป้องกันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเองทันทีเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อประชาชน

2. ติดตั้งป้ายเตือน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณถนนเลียบคันคลองที่มีความเสี่ยง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอาจทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวและอาจพังทลายอย่างฉับพลัน

3. มาตรการลดน้ำหนักบรรทุกและห้ามรถบรรทุกหนักวิ่งผ่าน เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดใช้เส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างทาง ส่งผลให้ถนน สะพานเกิดการชำรุดเสียหาย มีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่กำหนด

ช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์ เมื่อถนนเลียบคันคลองชลประทานในความรับผิดชอบเกิดการทรุดตัว จะต้องรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบและติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย ดังนี้

1. ติดตั้งป้ายเตือนให้ประชาชนใช้เส้นทางด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ชำรุด พร้อมติดตั้งสัญญาณไฟเตือนในเวลากลางคืน ทั้งนี้ การติดตั้งป้ายเตือนนั้นจะต้องวางครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และตำแหน่งของการวางนั้นจะต้องให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีระยะการมองเห็นปลอดภัย
2. ติดตั้งป้ายห้ามรถบรรทุกทุกชนิดผ่าน

3. ติดตั้งป้ายแนะนำประชาชนให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ

4. นำเครื่องจักรเข้าดำเนินการแก้ไขเบื้องต้น เมื่อเกิดการทรุดตัวของถนนเลียบคันคลองชลประทาน ต้องรีบดำเนินการซ่อมแซมหรือควบคุมความเสียหายให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่
ช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ ได้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดความเสียหายอย่างละเอียดและประเมินความเสียหายหาวิธีการแก้ไขอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจะดำเนินการออกแบบ ประมาณราคา เพื่อจัดทำแผนของบประมาณฟื้นฟู ซึ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวแล้วจะดำเนินการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูถนนที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิม เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.5021 อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ถนนเลียบคลองระพีพัฒน์) ที่ได้เกิดการทรุดตัวลงประมาณ 1 เมตร เนื่องจากกำแพงกันดินหักหรือทะลุตัวของผนังกำแพงกันดินทำให้พื้นผิวถนนชำรุดแตกตัวเป็นแอ่งลึก ยาวประมาณ 60 เมตร ปัจจุบันแขวงทางหลวงชนบทปทุมธานีได้ทำการปิดถนน นำเครื่องจักรขุดรื้อผิวทาง ปรับระดับชั้นทางเพื่อทำการลดน้ำหนักของคันทางลงป้องกันการทรุดตัวเพิ่มเติม และสามารถเปิดการสัญจรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้ชั่วคราวแล้ว

อย่างไรก็ตาม แขวงทางหลวงชนบทปทุมธานีได้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อำนวยความปลอดภัยให้ประชาชนผู้ใช้ทาง และขอให้ท่านระมัดระวังในการเดินทางบนถนนที่เกิดการทรุดตัว โดยให้สังเกตป้ายเตือน ป้ายบอกทาง พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันคลองชลประทาน ช่วยกันสอดส่องดูแลถนน หากพบว่ามีการแตกร้าวตามไหล่ทาง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถนนอาจจะทรุดตัวได้ สามารถขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุได้ที่สายด่วน 1146 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทาง ทช.จะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น