แม้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้รับความสนใจจากประชาชนต่ำกว่าที่ประเมินไว้มากจากเป้าหมายปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์ได้มาแค่ 3 เมกะวัตต์ แต่ “สนธิรัตน์” ยืนยันยังไม่ล้มโครงการหากแต่ปรับลดสัดส่วนการรับซื้อลง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยืนยันที่จะยังคงนโยบายโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ที่เปิดให้ภาคครัวเรือนติดตั้งใช้เองเป็นหลัก ที่เหลือสามารถขายเข้าระบบอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยที่ได้เปิดนำร่องปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์และดำเนินการต่อเนื่องในปี 2563 โดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาลดสัดส่วนลงในเดือน มี.ค.นี้
“ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) กำหนดปริมาณโครงการนี้ไว้ 10,000 เมกะวัตต์ โดยนำร่องดำเนินการ 10 ปีแรกก่อน (2562-2572) เริ่มปีละ 100 เมกวัตต์ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็จะไม่ล้มโครงการ เหตุเป็นแนวทางสู่การเปลี่ยนผ่านระบบไฟฟ้าภาคประชาชน แม้การประเมินผลเบื้องต้นพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ โดยไม่ครอบคลุมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบไม่ผ่านระบบจำหน่าย (peer to peer) และระบบแบตเตอรี่สำรองยังราคาแพง จึงจะเสนอ กพช.ปรับโควตาโซลาร์ภาคประชาชนบางส่วนให้โรงไฟฟ้าชุมชนแทน” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า โครงการไม่ประสบผลสำเร็จจากองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่ครอบคลุม 2 ประเด็น คือ 1. ไม่นำไปสู่การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (peer to peer) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขายไฟฟ้าระหว่างกันไม่ได้ในช่วงกลางวันที่ผลิตไฟฟ้าได้มาก และเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ก็ไม่ได้ และ 2. ระบบแบตเตอรี่สำรองที่จะนำมากักเก็บพลังงานยังไม่เหมาะสมเพียงพอ เนื่องจากราคายังสูงเกินไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้ารวมเกือบ 3 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ และในปี 2563 นี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังคงที่จะเปิดให้มีการรับซื้อต่อไปได้แต่ได้ลดเป้าหมายปีนี้เหลือเหลือเพียง 47 เมกะวัตต์เท่านั้น