กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ ธ.ค.62 จำนวน 3,158 ราย ลดลง 23% เลิก 5,666 ราย เพิ่ม 3% เหตุคนไม่อยากส่งงบการเงิน เลยเลี่ยงจดตั้งใหม่ และจดเลิกช่วงปลายปี ส่วนยอดรวมปี 62 ทำได้ 71,485 ราย ลด 1% แต่ยังอยู่ในเป้า และทำสถิติรวมสูงสุดเป็นอันดับ 3 ตั้งเป้าปี 63 คาดตั้งใหม่ 7.1-7.3 หมื่นราย
นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ เดือนธ.ค.2562 มีจำนวน 3,158 ราย ลดลง 23% ซึ่งเป็นปกติของทุกปีที่ช่วงปลายปี ตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค. ไม่ค่อยมีบริษัทมาจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ เพราะไม่อยากที่จะส่งงบการเงิน เลยรอไปจดทะเบียนช่วงต้นปีแทน ส่วนทุนจดทะเบียนตั้งใหม่มีมูลค่า 21,451 ล้านบาท ลดลง 45% โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคารและร้านอาหาร
ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 5,666 ราย เพิ่มขึ้น 3% ซึ่งตัวเลขจะสวนทางกับการตั้งใหม่ที่ลดลง แต่เหตุผลเหมือนกัน เพราะคนที่เลิกบริษัท ไม่อยากที่จะเสียค่าทำบัญชี สอบบัญชีและส่งงบการเงิน ขณะที่ทุนจดทะเบียนเลิก มีมูลค่า 21,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรกเหมือนกับธุรกิจตั้งใหม่
สำหรับยอดรวมการจดทะเบียนตั้งใหม่ของปี 2562 มีจำนวน 71,485 ราย ลดลง 1% แต่ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังเป็นยอดที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากปี 2560 ที่ทำได้ 74,517 ราย และปี 2561 ทำได้ 72,109 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนตั้งใหม่รวม 327,464 ล้านบาท และธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 22,129 ราย เพิ่มขึ้น 2% มีทุนจดทะเบียนเลิกรวม 112,097 ล้านบาท
“การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ภาพรวมทั้งปี มีแนวโน้มการตั้งบริษัทใหม่ในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค และรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองรองต่างๆ ทำให้สัดส่วนการตั้งบริษัทใหม่ในส่วนภูมิภาคเพิ่มเป็น 68% จากเดิม 64% และในกรุงเทพฯ ลดเหลือ 32% จากเดิม 36%”นางโสรดากล่าว
นางโสรดากล่าวว่า แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 7.1-7.3 หมื่นราย แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดทั้งปีประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ต้องจับตาในเรื่องของปัญหางบประมาณปี 2563 ที่ยังมีปัญหา เพราะมองในหลักเศรษฐศาสตร์ การลงทุนภาครัฐ ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งต่อระบบเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากงบประมาณล่าช้า ก็จะกระทบต่อเนื่อง ทำให้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่เพื่อรองรับงานต่างๆ ของภาครัฐลดลงตามไปด้วย