xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” ใช้บล็อกเชนป้องกันลักลอบนำเข้า CPO ด้าน EA ผุด รง.ผลิต PCM จากปาล์มรายแรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์








“สนธิรัตน์” หารือ ส.อ.ท.นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้เป็นมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากต่างประเทศ หลังจาก “พลังงานบริสุทธิ์” เตรียมผลิตสารเปลี่ยนสถานะ (PCM) จากน้ำมันปาล์มรายแรกของโลก และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในกระบวนการซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาผลิต PCM พร้อมชูโมเดลบริหารธุรกิจผ่านแนวคิดนวัตกรรมสังคมองค์กร (CSI )ปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรสู่การบริหารงานแบบบูรณาการ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเปิดงาน “EA : CSI Energy company, Innovation for us all” วันนี้ (27 ม.ค.) ว่า กระทรวงฯ เตรียมหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากต่างประเทศอีกมาตรการหนึ่งที่กระทรวงพลังงานเตรียมดำเนินการเพิ่มเติมซึ่งเบื้องต้นจะเน้น CPO ในส่วนที่ผลิตไบโอดีเซลบี100 ก่อนจากนั้นหากสามารถควบคุมการลักลอบได้มีประสิทธิภาพก็จะประสานงานไปยังกระทรวงพาณิชย์ที่จะเข้าไปดำเนินการทั้งระบบต่อไป

“หากเราสามารถนำเทคโนโลยี Blockchain มาควบคุมการซื้อขายปาล์มที่โรงสกัดได้เราก็ดูแลได้ทั้งระบบ เพราะถ้า CPOของโรงสกัดเกินกว่าปริมาณวัตถุดิบที่เข้ามา น้ำมันส่วนเกินไม่น่าจะมาจากการขายในระบบ ซึ่งหากจะดำเนินการก็จะทำเป็นรายโรงสกัดปัญหาการลักลอบในอดีตก็จะหมดไปซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาการลักลอบที่กระทรวงพลังานจะออกมาในเร็วๆ นี้เมื่อได้ตกผลึกร่วมกันกับทุกฝ่ายแล้ว” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ทาง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ได้มีการผลิต “สารเปลี่ยนสถานะ” หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์มและยังใช้เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในกระบวนการซื้อขายปาล์มเพื่อนำไปสู่การผลิต PCM ส่งเสริมให้การกำหนดราคาเป็นไปตามกลไกตลาดนับเป็นการตอบโจทย์ BCG โมเดล (Bio Economy,Circular Economyและ Green Eoconmy) ของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยอันจะเป็นกลไกหนึ่งในการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าการผลิต PCM ในปี 2563 อยู่ที่ 130 ตัน/วัน คาดสร้างรายได้เพิ่มปีนี้อีกกว่า 800 ล้านบาท หรือ 3% ของรายได้รวม เบื้องต้นโรงงานผลิตสาร PCM จะผลิตได้ 65 ตัน/วัน ก่อนทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 130 ตัน/วันภายในปีนี้ พร้อมวางเป้าหมายผลิต PCM เพิ่มเป็น 1,000 ตัน/วันภายใน 5ปีข้างหน้า เน้นทำตลาดส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ที่ให้ความสำคัญด้าน Green เนื่องจาก PCM ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รายแรกของโลก ที่คิดค้นนวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งราคา PCM จากน้ำมันปาล์มนี้แข่งขันกับ PCM ที่ผลิตจากฟอสซิลได้ แต่ยังมีความได้เปรียบด้าน Green

นอกจากนี้ EA ยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมปาล์มไทย ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘ปาล์มยั่งยืน’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ประกอบการทำธุรกรรมซื้อขายปาล์ม โดยการลงทะเบียนบันทึกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการซื้อขาย และคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อใช้ตรวจสอบที่มาและบันทึกการทำธุรกรรมซื้อขายอย่างถูกต้อง และที่สำคัญสามารถปันผลประโยชน์ส่วนเพิ่มกลับมายังผู้ขายวัตถุดิบในแต่ละขั้นตอนได้หากวัตถุดิบนั้นมีคุณภาพดีจนสามารถนำไปผลิตสาร PCM ที่มีคุณภาพสูงได้ เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้การกำหนดราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างโปร่งใสเป็นธรรมสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนและมีระบบการจ่ายผลตอบแทนที่สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว

สาร PCM เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็งและจากของแข็งเป็นของเหลวได้จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น วัสดุก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น โดย PCM เป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดย EA ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก ปัจจุบันตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น