“วีรศักดิ์”สั่งสถาบันอัญมณีฯ สร้างความเข้าใจการเรียกชื่อ “เพชร” ในตลาดให้ถูกต้อง หลังพบมีเพชรสังเคราะห์ เพชรเลียนแบบ เพิ่มมากขึ้น ป้องกันผู้บริโภคเกิดความสับสนระหว่างเพชรแท้ เพชรเทียม “ดวงกมล”รับลูก ทำคำศัพท์เกี่ยวกับเพชร ยึดมาตรฐานจาก 9 องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมเพชรโลก พร้อมแนะอยากมั่นใจเวลาซื้อเพชร ต้องมองหาเพชรที่ได้รับการตรวจและรับรองจากจีไอที
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที ดำเนินการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องในการเรียกชื่อ “เพชร” และคำศัพท์เกี่ยว “เพชร” “เพชรสังเคราะห์” และ “เพชรเลียนแบบ” เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันความสับสน หลังจากปัจจุบันเพชรธรรมชาติมีราคาสูงขึ้น จึงมีอัญมณีชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายเพชรมาใช้เลียนแบบเพชร เช่น เพทายไร้สี (Colorless Zircon) แซปไฟร์ไร้สี (Colorless Sapphire) และเพชรสังเคราะห์ รวมทั้งมีการเรียกชื่อต่างๆ ทำให้ในบางครั้งเกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภค
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการจีไอที กล่าวว่า จีไอทีได้ตรวจสอบมาตรฐานคำศัพท์เกี่ยวกับเพชร จากองค์กรชั้นนำ 9 แห่งในอุตสาหกรรมเพชร ได้แก่ AWCD , CIBJO , DPA , GJEPC , IDI , IDMA , USJC , WDC และ WFDB พบว่ามีการจัดทำมาตรฐานคำศัพท์เกี่ยวกับเพชรขึ้นมาแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจเพชร และเครื่องประดับ สามารถใช้อ้างอิงเมื่อต้องการกล่าวถึงเพชรและเพชรสังเคราะห์ โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน ISO 18323 และ CIBJO Diamond Blue Book โดยเฉพาะในการซื้อ ขาย และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเพชร เพชรสังเคราะห์ เครื่องประดับเพชร และเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ รวมทั้งในใบรายงานผลจากห้องปฏิบัติการอัญมณี (Certificate / Report)
สำหรับตัวอย่างศัพท์ที่ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับเพชร มีดังนี้ “เพชร” เป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คำว่า เพชร หมายถึงเพชรธรรมชาติเสมอ “เพชรสังเคราะห์” (synthetic diamond) คือ สิ่งที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นให้มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับเพชร “เพชรเลียนแบบ” (imitation diamond/diamond simulant) เป็นสิ่งที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบรูปลักษณ์ภายนอกของเพชร แต่ไม่ได้มีองค์ประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ หรือโครงสร้างเช่นเดียวกับเพชร และ “อัญมณี” เป็นแร่ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติและเรานำมาใช้ในเครื่องประดับด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม ความหายาก และมูลค่าในตัวของมันเอง
ส่วนคำที่จะใช้ สำหรับ “เพชรสังเคราะห์” ให้ใช้คำขยายที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ “สังเคราะห์” (synthetic) “ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ” (laboratory-grown) หรือ “สร้างโดยห้องปฏิบัติการ” (laboratory-created) อย่าใช้คำย่อ เช่น “ผลิตโดยแล็บ” (lab-grown) และ “สร้างโดยแล็บ” (lab-created) และอย่าใช้คำดังต่อไปนี้ “เพชรเลี้ยง” (cultured diamonds) และ “เพชรเพาะ” (cultivated diamonds) เนื่องจาก “เลี้ยง” และ “เพาะ” ใช้สำหรับกล่าวถึงสินค้าอัญมณีอินทรีย์เท่านั้น และยังห้ามใช้คำดังต่อไปนี้ “จริง” (real) “แท้” (genuine) “มีค่า” (precious) “ขนานแท้” (authentic) และ “ธรรมชาติ” (natural) เพราะคำดังกล่าวใช้สำหรับแร่และอัญมณีจากธรรมชาติเท่านั้น
นอกจากนี้ มีข้อแนะนำอีกว่า “เพชร” มีความหมายว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติตามนิยามของคำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงควรใช้คำว่า “เพชร” โดยไม่ต้องมีคำขยาย แต่ถ้าต้องการแยกให้แตกต่างจากเพชรสังเคราะห์ ให้ใช้คำว่า “เพชรธรรมชาติ” (natural diamond) ซึ่งให้ความหมายเทียบเท่ากัน และไม่ใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสน อย่างคำว่า ธรรมชาติ กับเพชรที่ปรับปรุงคุณภาพ เช่น “เพชรปรับปรุงคุณภาพจากธรรมชาติ” (natural treated diamonds) และ “เพชรธรรมชาติปรับปรุงคุณภาพ” (treated natural diamond) ให้ใช้แค่ “เพชรปรับปรุงคุณภาพ” (treated diamond) เท่านั้น
นางดวงกมลกล่าวว่า ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปที่ต้องการซื้อเพชร หรือต้องการตรวจสอบคุณภาพของเพชร สามารถนำเพชรไปตรวจสอบได้ที่จีไอที เพราะจีไอทีเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของภาครัฐของไทย มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีระดับมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบแยกเพชรธรรมชาติออกจากเพชรสังเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยอัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองจากจีไอที ถือเป็นของแท้ ของดี มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ จีไอทียังได้ดำเนินโครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC)” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย โดยจีไอทีได้มอบตราสัญลักษณ์ BWC แก่ร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพ มีใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจากจีไอที