ทีพีไอ เพาเวอร์ ตั้งเป้าปีนี้โกยรายได้และกำไรทุบสถิติสูงสุด คาดมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นแตะ 1.3 หมื่นล้านบาท จากปี 62 มีรายได้ 1.05 หมื่นล้านบาท พร้อมอัดงบลงทุนปี 63 อยู่ที่ 8 พันล้านบาท ใช้ลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่และขยายโรงงาน RDF เพิ่ม
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้และกำไรสุทธิปี 2563 มีโอกาสที่จะทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายรายได้รวมอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 2562 ที่คาดว่ามีรายได้รวม 1.05 หมื่นล้านบาท แม้ในปีนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบหลังจากที่บริษัทฯ ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในพอร์ตครบทั้งหมด 440 เมกะวัตต์ (MW) และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของหม้อไอน้ำ (Boiler) และสร้าง Boiler เพิ่มเติมที่แล้วเสร็จ ทำให้สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีรายได้จากธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและก๊าซฯ ที่จำหน่ายให้กับระบบขนส่งของโรงงานปูนซีเมนต์ทีพีไอ โพลีนเฉลี่ยปีละ 700-800 ล้านบาท รวมทั้งรายได้จากการขายเชื้อเพลิงขยะ (RDF)
ขณะเดียวกัน การหันมาสร้างโรงงาน RDF เพิ่มขึ้นจนทำให้ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 6 แห่งใน จ.สระบุรี, สมุทรสาคร, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, นครราชสีมา และปทุมธานี ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้อย่างน้อย 20% จากเดิมที่รับซื้อ RDF ซึ่งมีต้นทุนสูงถึง 1,200-1,300 บาท/ตัน ในสัดส่วนกว่า 60% ก็จะลดลงเหลือการรับซื้อราว 20% ส่วนที่เหลือ 40% มาจากโรงงานของบริษัทฯ ขณะที่เชื้อเพลิงที่เหลืออีกส่วนน้อยจะมาจากขยะชุมชน
นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิต RDF อย่างน้อย 2 แห่งใน จ.นครปฐม และลพบุรี ใช้เงินลงทนราว 200 ล้านบาท/แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 63 ทำให้กำลังการผลิต RDF เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่เกือบ 4,000 ตัน/วัน โดยส่วนใหญ่ราว 2,600 ตัน/วัน จะส่งให้กับโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท และเตรียมที่จะป้อน RDF ให้กับโรงปูนของ TPIPL ราว 1,200 ตัน/วันในกลางปีนี้ สร้างรายได้ราว 1 พันล้านบาทต่อปี และในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขาย RDF ให้กับโรงปูนต่างๆ เพิ่มเติม เพราะ RDFราคาถูกกว่าถ่านหินราว 25%
ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 8 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่ประมาณ 6 พันล้านบาท จะใช้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าจะมีเข้ามา 2 โครงการ กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ส่วนที่เหลืออีก 2 พันล้านบาท รองรับการขยายกำลังการผลิตโรงงาน RDF และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานต่างๆ เพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างมองหาการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศ ที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง โดยมีการพิจารณาใน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ที่มีโควตารับซื้อ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ส่วนอีกกว่า 100 เมกะวัตต์ยังไม่ได้ COD ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปเจรจาซื้อ PPA หรือร่วมลงทุนในส่วนนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา 3-4 ราย กำลังการผลิตรายละ 9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายไตรมาส 1/63
ส่วนที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผน PDP2015 โควตารับซื้อ 500 เมกะวัตต์ดังกล่าวที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีโควตาการขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในปีนี้ โดยบริษัทให้ความสนใจในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.สงขลา
ส่วนที่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ที่มีโควตารับซื้อเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์นั้น แม้ขณะนี้ กกพ.จะยังไม่ได้ประกาศรับซื้ออย่างเป็นทางการ แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลักก็เริ่มมีการกระบวนการเตรียมการแล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่ามีองค์กรปกครองท้องถิ่นไปยื่นเสนอโครงการต่อกระทรวงมหาดไทยแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ รวมในส่วนของบริษัทฯ ที่ได้เจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นอยู่ 3 แห่ง กำลังการผลิตราว 10 เมกะวัตต์ต่อแห่งด้วย และยังมีโอกาสที่จะเจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย