xs
xsm
sm
md
lg

3 M กระทรวงทรัพยากรน้ำ เปลี่ยนโฉมจัดการน้ำจากรับเป็นรุก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะออกแบบให้เป็นหน่วยงานกำกับนโยบาย (Regulator) ด้านน้ำของประเทศ โดยบูรณาการการทำงานเข้ากับหน่วยงานด้านน้ำกว่า 40 หน่วยแล้วก็ตาม
แต่ก็ขับเคลื่อนได้ไม่เต็มสูบ ด้วยข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ
หนึ่ง แม้ สทนช. มี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ในมือเป็นตัวช่วย แต่ในทางปฏิบัติก็มิอาจก้าวข้ามเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างกระทรวงได้ง่ายดาย เพราะแต่ละกระทรวงต่างมีกฎหมายของตัวเองกำกับอยู่แล้วเช่นกัน
สทนช. มีสถานะเทียบเท่าสำนักงานปลัดกระทรวง ในที่นี้คือสำนักนายกรัฐมนตรี
สอง กำลังคนและงบประมาณ สทนช. ไม่อาจเพิ่มกำลังคนได้มากและเร็วเท่ากับปริมาณงานที่ต้องทำ ไม่ต้องพูดถึงงบประมาณที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในหน่วยงานนั้นๆ ที่ถือเป็นหน่วยปฏิบัติ (Operation) อยู่แล้ว
เท่าที่ผ่านมา สทนช. ทำงานเกินกำลังก็ว่าได้ เพราะต้องเร่งขับเคลื่อนด้วยความเร็วทุกประเด็น ในฐานะแกนนำกำกับด้านน้ำให้หน่วยงานปฏิบัติเดินตาม
ถึงกระนั้น ยังเห็นภาพความสำเร็จในการจัดตั้ง สทนช. เป็นหน่วยงานกำกับ แม้จะเป็นองค์กรใหม่อายุกำเนิดเพียงกว่า 2 ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถขับเคลื่อนภาพใหญ่ได้มากมาย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแนวทางการศึกษาพัฒนารูปแบบใหม่ที่สร้างความสมดุลให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ และ ฯลฯ รวมทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเช่นภัยแล้ง และอุทกภัยที่เกิดขึ้นทุกปี
ส่วนหนึ่ง สทนช. ออกแบบให้เป็นองค์กรกลางเชื่อมโยงระหว่างกระทรวง เพื่อแก้ปัญหาติดขัดได้ โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่มักติดปัญหาระหว่างกระทรวง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ 59 โครงการได้รับการอนุมัติดำเนินการไปแล้ว 19 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับแผนงานโครงการและงบประมาณเกี่ยวกับน้ำ จากเดิมที่หน่วยปฏิบัติต่างคนต่างทำ ได้บูรณาการแผนงานโครงการเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดความสิ้นเปลืองงบประมาณ รวมทั้งยังกระจายงานให้หน่วยงานในพื้นที่ได้มีบทบาทและศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย
“บางอย่างเราทำได้ แต่บางอย่างเขาก็มีกฎหมายในกำกับของเขา มีเจ้ากระทรวงที่จะพิจารณา ดังนั้นการขอความร่วมมือจึงไม่อาจคาดหวังผลได้เต็มที่” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ยอมรับกลายๆ ว่า สทนช. เองมีข้อจำกัด ไม่อาจทำทุกอย่างได้
จึงเป็นที่มาของการพูดถึงกระทรวงใหม่ “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” หนาหูขึ้นทั้งจากความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ และทั้งจากจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง สทนช. ที่มองทะลุจุดสุดท้าย คือกระทรวงทรัพยากรน้ำอยู่แล้ว
พูดง่ายๆ ถ้าจัดตั้ง สทนช. ขึ้นมาขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ก็ป่วยการพูดถึงการกำเนิดกระทรวงทรัพยากรน้ำ
แม้วันนี้ สทนช. ตั้งไข่ได้เร็วในชั่วระยะเวลาเพียง 2 ปีท่ามกลางของปัญหาที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะการบูรณาการการทำงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในลักษณะรุกมากกว่าตั้งรับสถานการณ์เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ณ ขณะนี้ยังมีช่องโหว่ในประเด็น 3 M ประกอบด้วย เงิน (Money) การบริหารจัดการ (Management) และ กำลังคน (Manpower)
เรื่องเงิน เอาเข้าจริงมีงบประมาณเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการเท่านั้น ยังต้องมองถึงการจัดหางบประมาณจำนวนมากในอนาคตด้วย ซ้ำร้ายการบูรณาการแผนงานตอนตั้งงบประมาณได้เพียง 50-60% แทนทั้ง 100%
เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยกลไกของ สทนช. ถือว่ายังไม่เบ็ดเสร็จ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูปกรรมการลุ่มน้ำ และรอแต่งตั้งอนุกรรมการน้ำระดับจังหวัด ประกอบกับ สทนช. ขาดกำลังบุคลากรมากมาย มีแต่คณะทำงานที่ต้องยืมตัวจากหน่วยงานอื่นมาทำงานด้วยหลายคณะ
บางเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดต่อการบริหารจัดการน้ำ อาทิ คลังข้อมูลน้ำ กระจายตัวอยู่คนละที่กับ สทนช. ไม่อาจปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการน้ำ จากรับเป็นรุก เพื่อให้ทันสถานการณ์ปัญหาและการแก้ไข
เรื่องคนซึ่งเป็นเรื่องสุดท้าย ยังคงกระจายอยู่ที่กระทรวงเดิม แทนการรวมศูนย์เข้าด้วยกัน ทำให้การควบคุมสั่งการไม่อาจตอบสนองปัญหาได้เร็วพอ
การยกระดับการบริหารจัดการน้ำภายใต้ สทนช. ในปัจจุบัน เป็นกระทรวงทรัพยากรน้ำในอนาคต จึงต้องรับรู้และแก้ไขช่องโหว่ประเด็นปัญหา 3 M ดังกล่าวก่อน ทำได้สำเร็จเมื่อไรก็จัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำได้ทันที เมื่อนั้น
เป็นกระทรวงทรัพยากรน้ำที่มีเอกภาพสมบูรณ์ในตัวเอง บรรลุเป้าหมายการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมีทิศทางในลักษณะการทำงานแบบรุกมากกว่ารับ


กำลังโหลดความคิดเห็น