xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นสัญญา “โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร” แล้ว BGRIM ลุ้นปิดดีล M&A ดันรายได้พุ่งกว่า 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






กฟผ.ร่วมกับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’-เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ลงนามสัญญาจัดซื้อและก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร มูลค่ากว่า 842 ล้านบาท นับเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้าน BGRIM ลุ้นปิดดีล M&A กลางปีนี้ ดันรายได้โตมากกว่า 20%

วันนี้ (20 มกราคม ) พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ระหว่าง กฟผ. กับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’-เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เป็นผู้แทน กฟผ.ร่วมลงนามกับ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และ Mr. Wang Xinping ประธานกรรมการ บริษัทChina Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering Co., Ltd. โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการ กฟผ.กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ของ กฟผ. เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยที่ลดข้อจำกัดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ สอดรับกับนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน (PDP2018)

สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธันวาคม 2563

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศคาดว่าในกลางปี 2563 จะมีความชัดเจนอย่างน้อย 2 โครงการ ซึ่งจะทำให้รายได้บริษัทโตเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20% จากเดิมที่ตั้งเป้ารายได้ในปีนี้โตตามแผนงานปกติ 10-20%

สำหรับดีล M&A ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในประเทศ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯในมาเลเซีย โครงการโซลาร์ในฟิลิปปินส์ โครงการในเกาหลี เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการก็น่าจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มั่นใจว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 65 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,896 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า 3,000 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง และการนำเจ้าและจำหน่าย LNG ในเวียดนามก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

นางปรียารถกล่าวว่า บริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีศักยภาพเพียงพอ โดยยังมีเงินคงเหลือจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ 8 พันล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และแม้จะมีโครงการใหญ่เข้ามาก็เชื่อว่าจะสามารถควบคุมหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 2 เท่า

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG ในตลาดค่อนข้างต่ำจึงเป็นโอกาสของผู้ใช้ โดยขณะนี้บริษัทยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุ (Replacement) และยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเซ็น PPA โครงการดังกล่าวได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563

อนึ่ง BGRIM มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตรวมสุทธิรวมจำนวน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยเป็นโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP จาก 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 565 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุในปี 2565 และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการที่ย้ายพื้นที่จาก จ.ราชบุรี มาเป็น จ.อ่างทอง กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น