กรมทางหลวงลุยแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 งัดมาตรการเข้มงวดคุมพื้นที่ก่อสร้าง ห้ามใช้เครื่องจักรที่มีเขม่าควันดำ และน้ำมันเครื่องซ้ำ ระดมติดตั้งเครื่องปล่อยละอองน้ำจับฝุ่น 15 แห่ง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สั่งการให้สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองใน 2 กรณี คือ กรณีที่ระดับปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตที่ระดับปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป กรณีที่ระดับปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมทางหลวงจะดำเนินการมาตการ ดังนี้
ด้านงานก่อสร้างและบำรุงทาง มีการจำกัดพื้นที่หน้างานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น การเข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละออง เช่น การปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย การตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี ห้ามใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเขม่าควันดำ และการงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นต้น
ส่วนขยะที่เกิดจากการก่อสร้างจะมีการจัดการอย่างเหมาะสม ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด โดยพิจารณาวิธีการก่อสร้างที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงน้อย เช่น warm mix asphalt การทำความสะอาด
เศษฝุ่น เศษวัสดุที่สะสมบริเวณขอบทางและเกาะกลางอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดทั่วประเทศในการลดการเกิดฝุ่นควัน และการอำนวยความสะดวกต่อการจราจรบนถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดจากการก่อสร้างและบำรุงทาง
ด้านงานการให้บริการผู้ใช้ทางและบริหารจัดการจราจรบนสายทาง จะประสานความร่วมมือระหว่างตำรวจทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษในการตรวจจับรถยนต์ที่มีเขม่าควันดำ และเข้มงวดไม่ให้มีการจอดรถในพื้นที่ผิวถนนที่มีการจราจรแออัด จัดการจราจรให้ลื่นไหลลดการติดขัด รวมทั้งการบำรุงรักษาต้นไม้ริมทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี เพื่อช่วยจับฝุ่นละอองจากถนน และเฝ้าระวังการเกิดปัญหาไฟป่าโดยการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ในการป้องกันและควบคุม
ด้านงานสำนักงาน ด้วยการลดการเดินทางของบุคลากร พิจารณาใช้เทคโนโลยีในการทำงานที่ช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว โดยเปลี่ยนการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้า ตลอดจนการใช้รถยนต์ร่วมกัน (Carpool) สำหรับการเดินทางเส้นทางเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมีการจัดการขยะอย่างเหมาะสมโดยใช้วิธีการห้ามเผาโดยเด็ดขาด และรณรงค์ให้บุคลากรประหยัดพลังงานในสำนักงาน
กรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตที่ระดับปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป กรมทางหลวงจะดำเนินการดังนี้
การปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง (High Pressure Water System) ซึ่งปัจจุบันติดตั้งไว้จำนวน 15 แห่ง เพื่อดักจับฝุ่นละอองฝุ่น PM 2.5 ดำเนินการช่วงเวลา 18.00-23.00 น. ณ บริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณด่านฯ ทับช้าง 1 (มุ่งหน้าบางพลี) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9, บริเวณป้าย Overhead Gantry บริเวณด่านฯ ทับช้าง 2 (มุ่งหน้าบางปะอิน) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9
รวมทั้งสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งประตูวิภาวดีรังสิต, สะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณโรงเรียนหอวัง ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต, สะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) กม. 8+400 (หน้าตลาดมารวย), สะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนพระรามที่ 2) กม.11+240 (ทางเข้าถนนบางกระดี่)
อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ ลาดกระบังขาออก, อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ ลาดกระบัง ขาเข้า, อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ บางปะกง Type A, อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ หนองขาม 1, อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ หนองขาม 4,อาคาร Canopy รถบรรทุก ), อาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ โป่ง 3 และอาคาร Canopy รถบรรทุก ด่านฯ พัทยา ขาออก
นายสราวุธกล่าวว่า ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณพี้นที่ก่อสร้าง และหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยศึกษาและจัดทำแผนแก้ปัญหาด่านเก็บค่าผ่านทางฯ ให้รถสามารถผ่านด่านฯ ได้โดยเร็ว ไม่หยุดชะงัก เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อมลพิษอีกทาง รวมทั้งร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการรณรงค์และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ M-Pass และ Easy Pass โดยได้เพิ่มจุดรับสมัครและเติมเงิน M-Pass บนสายมอเตอร์เวย์ 5 จุด คือ
ด่านฯ ทับช้าง 1, ด่านฯ ทับช้าง 2, Service Area ขาเข้า, Service Area ขาออก และด่านฯ โป่ง 3 ตลอดจนการลดค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับดอนเมืองโทลล์เวย์ ด้วยการจำหน่ายคูปองส่วนลดร้อยละ 5 ต่อเล่มเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 มิ.ย. 2563 ซึ่งคูปองสามารถใช้ได้นาน 5 ปี