“ศักดิ์สยาม” สั่ง ทช.เข้มงวดสัญญาซ่อมบำรุง ปรับระเบียบ เพิ่มความผิดขึ้นบัญชีดำทิ้งงาน หมดสิทธิ์ประมูลงาน ซ่อมบำรุงล่าช้า สั่งทำแผนประมูลงบปี 63 ขีดเส้นจบใน 31 ส.ค.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า ได้ให้ ทช.เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลงานซ่อมบำรุงของผู้รับเหมาที่อยู่ในระยะค้ำประกันตามสัญญา เนื่องจากพบว่าผู้รับเหมามีการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่าที่กำหนด 30 วัน ซึ่งถนนที่ชำรุดจะส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากผู้รับเหมาไม่ทำ ให้ ทช.ดำเนินการเข้มข้นขึ้น โดยนำเงินค้ำประกันมาดำเนินการซ่อมเอง นอกจากนี้ ให้ ทช.แก้ไขระเบียบว่าจะขึ้นบัญชีดำเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน ได้หรือไม่ เพราะถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ
และให้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อรองรับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยให้จัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จใน 31 ส.ค. เพื่อมีเวลาสำหรับกรณีมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขอีก 1 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ และให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องตรวจสอบรายละเอียด ความพร้อมของโครงการให้รอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุด รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเสนอของบประมาณ และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการดำเนินโครงการต่างๆ
ส่วนนโยบายการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยนั้น ได้เร่งรัดให้นำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น การนำ Rubber fender barrier มาใช้เพื่อลดโอกาสการชนกันของรถยนต์ และให้พิจารณางดการสร้างเกาะกลางแบบเกาะหญ้าสำหรับโครงการก่อสร้างถนนในอนาคต ยกเว้นในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ที่ต้องการความสวยงาม เพื่อลดงบประมาณด้านการบำรุงรักษา
ทช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการทดสอบ rubber fender barriers ทั้งตัวแผ่นยางที่หุ้มแบริเออร์ ตัวคอนกรีตแบริเออร์ และได้ผ่านการทดสอบในการรับน้ำหนัก การคงทนสภาพ ในห้องปฏิบัติการ (lab) แล้ว อยู่ระหว่างส่งไปทดสอบต่อที่ประเทศเกาหลีในวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมทั้งสรุปผลทั้งหมดในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ต่อไป ซึ่งตนจะไปดูการทดสอบที่เกาหลีเพื่อความมั่นใจว่ามีมาตรฐานปลอดภัยจริง ซึ่งหากได้ผลตามมาตรฐานจะนำมาใช้ในปี 63 ซึ่ง ทช. จะปรับแผนงานดำเนินการได้
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ตามสัญญาผู้รับจ้างจะมีการรับประกันงานซ่อมบำรุงรักษาถนนเป็นระยะเวลา 2 ปีหลังส่งมอบงาน โดย ทช.จะทำการตรวจสภาพทางทุก 3 เดือน หากพบถนนชำรุด เสียหาย (ยกเว้นจากเหตุภัยพิบัติ น้ำท่วม) จะแจ้งผู้รับเหมาให้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมภายใน 30 วัน ซึ่งหากไม่เข้ามาซ่อมแซม ทช.จะขึ้นบัญชีดำ (Black List ) ตัดสิทธิ์ยื่นประกวดราคา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้รับเหมาส่วนใหญ่มักจะเพิกเฉย และเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมในช่วงระยะรับประกันปีที่ 2 เพื่อปลดบัญชีดำ ทำให้สามารถยื่นประมูลงานได้อีก
รมว.คมนาคมให้ดูว่าจะเพิ่มความเข้มข้นอย่างไร เช่น ปรับปรุงระเบียบ จากการขึ้นบัญชีดำตัดสิทธิ์ยื่นประกวดราคา เป็นขึ้นบัญชีดำเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานแทน ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถยื่นประมูลงานได้อีกเลย
ส่วนการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาหากผู้รับเหมาเข้าซ่อมบำรุงทางที่ชำรุด และอยู่ในระยะรับประกันล่าช้ากว่า 30 วัน ทช.จะนำเงินค้ำประกันงาน 5% ของมูลค่างานออกมาดำเนินการเองเพื่อลดความเดือดร้อน ส่วนการเพิ่มระดับการขึ้นบัญชีดำเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานนั้นต้องศึกษาระเบียบจัดซื้อจัดจ้างว่าจะสามารถปรับปรุงได้อย่างไร เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและคืนผิวจราจรให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างรวดเร็วปลอดภัยที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้รับเหมาขึ้นทะเบียนต่อกรมทางหลวงชนบทอยู่ประมาณ 400 ราย
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้รับงบประมาณ 47,472.0027 ล้านบาท โดยมีแผนงานโครงการ ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค, ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
ส่วนในปี 2564 ทช.ได้เสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ประมาณ 95,000 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น
ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344-บ้านบางพลีใหญ่ อำเภอเมือง, บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กิโลเมตร, ถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ระยะทาง 25.656 กิโลเมตร, ถนนสายแยก ทล.11 (ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ กม.ที่ 3+800)-ทล.1 (กม.ที่ 712+300) อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง, ถนนสาย ง2 ผังเมืองรวมเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด, ถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อำเภอเทิง, จุน จังหวัดเชียงราย, พะเยา