ส.ส.อนาคตใหม่อ้างงบบูรณาการแก้ไฟใต้ซ่อนโครงการล้างสมองเด็ก 1-5 ขวบ มูลค่ากว่าพันล้าน โดยให้ทหารติดอาวุธทำกิจกรรมกับเยาวชน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน หวั่นทำให้ปัญหาชายแดนใต้ลุกลาม
วันที่ 10 ม.ค.63 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท วาระสอง ต่อเนื่องเป็นวันที่สาม ช่วงการพิจารณาร่างมาตรา 37 งบรายจ่ายสำหรับแผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯปรับแก้ไข โดยลดงบประมาณ จากเดิมที่เสนอขอ 10,865 ล้านบาท เหลือเพียง 10,641 ล้านบาท ทั้งนี้ กมธ.เสียงข้างน้อย และส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขออภิปรายเพื่อปรับลดงบประมาณ พร้อมอภิปรายเหตุผลประกอบ โดยเน้นการปรับลดงบประมาณที่จัดสรรเพื่อใช้กับเยาวชนและเด็กในสถานการศึกษาที่ไร้ตัวชี้วัดและรายละเอียดที่ชัดเจน พร้อมแสดงความกังวลว่าจะเป็นงบประมาณเพื่อล้างสมองเด็กซึ่งส่อขัดหลักการสิทธิมนุษยชนที่คุ้มครองกับเด็กตามองค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดของโครงการเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องรวมถึงงบประมาณสื่อสาธารณะ
โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย สงวนความเห็นเพื่อปรับลดงงบประมาณในแผนบูรณาการ ที่ชื่อว่าโครงการเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ซึ่งบูรณาการโครงการ 15 หน่วยงาน มูลค่ารวม 1,293 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 431 ล้าานบาท มีหน่วยรับงบประมาณ 11 หน่วยรับงบประมาณ อาทิ กองทัพบก, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานบันการศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษา ขณะที่งบประมาณอีกส่วน 862 ล้านบาท โดยมีส่วนที่จัดสรรให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( กอ.รมน.) และหน่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมการปกครอง ซึ่งวางกลุ่มเป้าหมายกับเยาวชน อายุ 1-5 ปี ซึ่งในชั้นกมธ.ฯ สอบถามว่าความจริงที่ถูกต้อง คืออะไร และมีกระบวนการอย่างไร กลับไม่ได้รับคำตอบ แต่ทราบเป้าหมายว่าทำให้คะแนนโอเน็ตดีขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นความจริงวิชาอะไร และสาระอะไร
“ผมขอให้นิยามงบประมาณส่วนนี้ว่า งบล้างสมอง พันล้านบาท ทั้งนี้หากกิจกรรมความจริงที่ถูกต้อง ปรากฎว่าทหารที่ติดอาวุธทำกิจกรรมใดๆ กับเยาวชน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เชื่อว่าอาจทำให้ปัญหาชายแดนภาคใต้ลุกลาม และประเทศไทย อาจถูกขึ้นบัญชีดำจากองค์การสหประชาชาติ เพราะถือว่าทหารที่ติดอาวุธซึ่งเข้าไปยังสถานศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนจะถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง ดังนั้นหาก ส.ส.อนุมัติงบประมาณส่วนดังกล่าวต้องร่วมรับผิดชอบ ดังนั้นผมขอตัดงบประมาณโครงการดังกล่าว วงเงิน 862 ล้านบาท” นายวิโรจน์อภิปราย
ด้านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายปรับลดแผนงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พบว่ามีงบประมาณรวมกันมากถึง 5 หมื่นล้านบาท อาทิ งบเบี้ยเลี้ยงกำลังพล เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำหนดไว้ในหน่วยงาน กอ.รมน. 4,000 ล้านบาท ซึ่งตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการซ่อนงบประมาณและเล่นแร่แปรธาตุในหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ตัวชี้วัดคือลดความรุนแรงซึ่งเป็นเพียงปลายเหตุไม่ใช่การลดที่ต้นเหตุของปัญหา ที่ชาวบ้านระแวงซึ่งมีทหารเข้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ เป็นต้น ขณะที่การจัดสรรงบประมาณ กว่า 800 ล้านบาท ที่ใช้กับเยาวชน ตนมองว่าเป็นการผลักให้เยาวชนเป็นศัตรูตั้งแต่เด็ก
ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายขอปรับลดงบประมาณ 13.6 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของโครงการเสริมประสิทธิภาพข่าวกรองและโครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามในการประชุมกมธ. เพื่อปรับลดงบประมาณส่วนของการแก้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้ พบว่าตัดลดงบประมาณส่วนของการชี้แจงและทำความเข้าใจ รวมถึงอบรมในหลักสิทธิมนุษยชน คิดเป็นร้อยละ 70เปอร์เซ็นต์ของงบที่เสนอจัดสรร ซึ่งตนกังวลว่าจะทำให้การแก้ปัญหาไฟใต้ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวขอเจอรอบต่อไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ต่อจากนั้น นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า กมธ.และอนุ กมธ.ได้ระวังในการพิจารณา โดยในโครงการเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องนั้นตามแผนงานไม่ใช่กระทำกับเด็ก ซึ่ง กมธ.คำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิเด็ก แต่จะดำเนินโครงการกับผู้ที่จะเข้าให้ความรู้กับเด็กอีกชั้น ดังนั้นยืนยันว่าเป็นโครงการที่ไม่กระทบหรือละเมิดสิทธิเด็กแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ ส.ส.และ กมธ.ได้ชี้แจงแล้วเสร็จที่ประชุมได้ลงมติ โดยเสียงข้างมาก 243 เสียงเห็นชอบกับร่างที่ กมธ.แก้ไข ไม่เห็นด้วย 54 เสียง งดออกเสียง 134 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 38 ต่อไป