“สมคิด” ลั่นภายในเดือน มี.ค.หรือไตรมาส 2 ของปีงบประมาณจะดันงบปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาทออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ รับเป็นระเบิดใต้น้ำลูกหนึ่งที่มีผลให้ ศก.ไทยโตช้าในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ลูกแรกส่งออกติดลบ ลุ้นสหรัฐฯ ลงนามจีน 15 ม.ค.นี้ ขณะที่ค่าเงินบาทเป็นระเบิดลูกใหม่ จี้เอกชนไทยเร่งลงทุนฉุดบาทอ่อนค่า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยปลายปีที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญพายุที่เปรียบเสมือนระเบิดใหญ่ 2 ลูก โดยลูกแรกเป็นระเบิดเหนือน้ำที่ส่งออกของไทยลดลงอย่างมาก และลูกที่ 2 คือระเบิดใต้น้ำซึ่งมีหลายลูกรวมกัน ทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้าเกินไป รวมไปถึงงบประมาณแผ่นดินล่าช้า ดังนั้น หลังจากนี้จะมีการผลักดันให้มีการใช้จ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายภายในเดือนมีนาคม หรือไตรมาส 2 ของปีงบประมาณจะต้องเบิกจ่ายให้ได้อย่างน้อย 54% หรือคิดเป็นเม็ดเงินงบประมาณที่ 1 ล้านล้านบาทจากปัจจุบันเบิกจ่ายได้เพียง 23%
“ปกติงบประมาณต้องเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปี ทำให้งบประมาณในไตรมาส 1 ของปีงบ (ตุลาคม-ธันวาคม 2562) ซึ่งอยู่ไตรมาส 4 ปีปฏิทิน ลงไปในระบบเศรษฐกิจน้อยมาก จากนี้จะต้องเร่งงบให้เบิกจ่าย โดยต้องเบิกจ่ายให้ได้เป็น 70% ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ และจนสิ้นสุดปีงบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทั้งหมดเพื่อดูแลเศรษฐกิจ” นายสมคิดกล่าว
สำหรับการส่งออก พ.ย.ที่ติดลบถึง 7.7% เพราะสินค้าส่งออกของไทยอยู่ในซัปพลายเชน เชื่อมโยงกับจีน เมื่อมีปัญหาสงครามการค้าย่อมหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี โดยขณะนี้มีข่าวดีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าจะมีการลงนามด้านสินค้าเกษตรวันที่ 15 มกราคมนี้ ก็ภาวนาให้คลี่คลาย เพราะปัจจัยนี้ไทยควบคุมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ระเบิดลูกใหม่คือค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งไตรมาส 4 หลายคนมองว่าเป็นเพราะเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา ซึ่งทั้งหมดคงไม่ใช่เพราะส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้ส่งออกติดลบแต่ การนำเข้าลดลงเพราะไม่เกิดการลงทุนโดยเฉพาะจากเอกชนที่ต่ำมากเพียง 16% ของจีดีพีเท่านั้น จึงเป็นช่องว่างทำให้ค่าเงินแข็ง ดังนั้น หากเอกชนไม่ลงทุนปัญหาเงินบาทก็จะแก้ได้ยาก เพราะในส่วนบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็เข้าไปดูแลลำบากส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้ไปขัดกับ currency manipulator ของสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งลำบากมากขึ้น
“การลงทุนจึงเป็นทางออกของไทย เพราะ 1. ถ้าลงทุนเม็ดเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคองเศรษฐกิจ 2. ถ้ามีการลงทุนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องคิดใหม่ว่าจะร่วมลงทุนอย่างไร 3. ถ้าต้องลงทุนไม่ใช่แค่ลงทุน ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์ ขณะนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนดังนั้น การลงทุนต้องคิดถึงประโยชน์สูงสุดต่อไทย ตรงนี้บทบาทของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องให้ความสำคัญ บีโอไอต้องเฉียบแหลม และต้องทำงานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ไม่ควรทำหน้าที่แค่ทำนายเศรษฐกิจ แต่ต้องทำงานเชิงพัฒนาร่วมกับบีโอไอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทันสมัยมากขึ้น” นายสมคิดกล่าว