การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วทุกวงการ ชนิดที่เรียกว่า พลิกโลก ซึ่งมีผลให้รูปแบบการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไป โดยธุรกิจที่ปรับตัวได้ ปรับตัวเร็ว จะอยู่รอดและเข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิม ๆ ที่ปรับตัวไม่ทัน เช่น บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่กวาดส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกเกือบทั้งหมด ผ่านโครงข่ายบริการที่ใหญ่กว่า รวดเร็วกว่า ส่งผลให้ธุรกิจดั้งเดิมของประเทศที่เข้าไปทำตลาดแข่งขันไม่ได้ อยู่ไม่รอด
แน่นอนว่า ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ดูง่าย ๆ อย่างสำเพ็ง พาหุรัด ที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือสินค้าไทยวางจำหน่ายให้เห็น เหตุเพราะผู้ผลิตไทยปรับตัวยาก จึงสู้ธุรกิจจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาไม่ได้ แต่หากใครปรับตัวเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่รวดเร็วได้ ก็จะประสบความสำเร็จ อยู่รอดต่อไป แต่ปัญหาสำคัญของไทยก็คือ ธุรกิจหรือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่ ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ขยับตัวอย่างรวดเร็วมาก จึงต้องล้มหายตายจากไป ทำให้เกิดเป็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้นเป็นลำดับ
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ประเทศไทยต้องพูดถึงหรือเข้าไปแตะกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ เหยื่อรายแรกที่มักถูกชี้นิ้วไปหาก็คือ เอกชนขนาดใหญ่ หลายคนมองว่า ทางแก้ก็แค่บอนไซเอกชนขนาดใหญ่พวกนั้น ไม่ให้ขยายหรือเติบโตมากจนเกินไป ช่องว่างความเหลื่อมล้ำหรือความจนความรวยจะได้ลดลง โดยลืมมองความจริงที่ว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ หากเอาเชือกผู้ขาธุรกิจใหญ่ ๆ ในประเทศไว้ แต่ปล่อยให้ธุรกิจข้ามชาติชกแบบฟรีสไตล์ได้ สุดท้ายความเหลื่อมล้ำจะยังอยู่และจะยิ่งทวีคูณ เพราะเท่ากับประเคนความสำเร็จให้กับธุรกิจหรือบริษัทต่างประเทศ
ดังนั้น การตีโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงต้องอยู่ที่ ทำอย่างไรจะให้ประเทศเรา มีการแข่งขันที่สู้ต่างประเทศได้ แล้วจับมือร่วมกันสู้ เหมือนมีเรือใหญ่ที่บรรทุกคนไทยเก่ง ๆ ไปต่อกรบนเวทีการค้าโลก ไม่ใช่ใช้ยุทธศาสตร์แตกตัว ควบคุมไม่ให้มีบริษัทใหญ่ จนกลายเป็นมดตัวเล็ก ๆ ที่ขาดอำนาจการต่อรองกับคนอื่น
วันนี้เราจึงต้องกลับมามองใหม่ว่า ทำไมอเมริกาต้องมี Apple, Google ทำไมเกาหลีต้องมี LG, Samsung ทำไมญี่ปุ่นต้องมีโตโยต้า ฮอนด้า เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมประเทศต้องมีเอกชนขนาดใหญ่ไปแข่งขันในตลาดโลก
สำหรับประเทศไทย พื้นฐานเศรษฐกิจมีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อีก โดยปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องมีประสิทธิภาพที่ดีทั้งคู่ เพื่อมีกำลังส่งเสริมให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยรัฐบาลอย่างคู่ขนาน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต โดยทั้งรัฐบาลและเอกชนจะต้องมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาประเทศ
ตัวอย่างของเอกชนขนาดใหญ่อย่างซีพี ที่เมื่อมีการจัดอันดับ ก็จะต้องถูกพูดถึง ซึ่งการติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ก็มีหลากหลายมิติที่ควรมอง อาทิ ในปี 2561 การใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของซีพีสูงถึง 956,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกร คู่ค้าที่มาร่วมผลิตกับบริษัท ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ไปในห่วงโซ่คุณค่า จึงทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นได้
ส่วนมิติของภาษีที่จ่ายให้รัฐบาล ในปีเดียวกัน กลุ่มซีพีจ่ายภาษีสูงถึง 16,500 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใบอนุญาตที่ประมูล 3G, 4G ที่ทำให้เงินไหลเข้าประเทศไทยอีกหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ภาษีเข้าสู่รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศ ในมุมทางภาษีนี้ หากอาศัยบริษัทเล็ก ๆ เพียงอย่างเดียว เม็ดเงินภาษีอาจไม่เพียงพอในการรวบรวมมาใช้พัฒนาประเทศ
ด้านการสร้างงาน บริษัทขนาดใหญ่ยังสามารถช่วยจ้างงานสร้างอาชีพได้ในปริมาณมาก กรณีของซีพี มีการจ้างพนักงานในประเทศถึง 202,800 คน เป็นรายได้ที่มั่นคงและสามารถกระจายไปสู่เศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2561 กลุ่มซีพีมีการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน รวมทั้งสิ้น 93,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ก็จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นช่องทางในการกระจายความเป็นเจ้าของให้กับนักลงทุนต่าง ๆ รวมถึงนักลงทุนรายย่อย โดยในปี 2561 บริษัทในตลาดของกลุ่มซีพี ได้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 23,990 ล้านบาท
ในมิติของการนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยผ่านการส่งออกนั้น ปี 2561 กลุ่มซีพีได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีมูลค่า 56,840 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาอีก 7,000 ล้านบาท ทำให้เงินทุนกระจายสู่นักวิจัยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ท้ายสุดเป็นมิติของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะเสริมสร้างการแข่งขันในระยะยาว และมีผลด้านอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การขนส่งและโลจิสติกส์ อย่างเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เงินลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท ที่หลายคนอาจมองว่ามักมีแต่บริษัทไทยหน้าเดิม ๆ มาดำเนินโครงการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกชนขนาดใหญ่มีเครดิตในการรวบรวมเงินลงทุนมาพัฒนาประเทศได้มากนั่นเอง
เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านที่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการจำกัดการแข่งขันของธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ จึงดูเหมือนเป็นทางออกที่ไม่น่าพิศมัยเท่ากับการส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อทำให้ธุรกิจไทยแข็งแกร่งแข่งขันได้ โดยไม่ใช้วิธีกีดกันทางการค้า (Protectionism) หรือเลือกใช้วิธีอุดหนุนจากรัฐ (Subsidy) แต่ต้องผลิตตามกลไกตลาด ใช้กรณีเพิ่มผลิตภาพ (Increase Productivity) ไปจนถึงมาตรการด้านภาษี (Taxes) ในการดึงดูดนักลงทุน มุ่งเน้นวิธีสร้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศ ในห่วงโซ่คุณค่าที่ยาวขึ้น (Focus on job creation) ผสมผสานกับการที่รัฐใช้งบประมาณอัดฉีดในบางจุด รวมทั้งมีระบบประกันรายได้ขั้นต่ำร่วมด้วย (Minimum Guaranteed Income) พร้อมกันนั้นต้องดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สังคมและประเทศ ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้ทรัพยากรกระจายตัวยิ่งขึ้น เพิ่มทั้งความมั่งคั่งให้ประเทศและความมั่งคั่งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
เครดิต: Neo Economist
(ข้อมูลสถิติ: รายงานความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์)