xs
xsm
sm
md
lg

PTTLNG ปรับปรุงท่าเรือ-คลัง LNG มาบตาพุด สนองนโยบายรัฐสู่การเป็นฮับในภูมิภาคนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พีทีที แอลเอ็นจี” ปรับปรุงท่าเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซ LNG ที่มาบตาพุด เตรียมความพร้อม Reload LNG ให้บริการลูกค้าทั้งทางเรือและรถยนต์ ขณะที่สถานีฯ หนองแฟบก่อสร้างไปแล้ว 40% ปูทางการเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาคนี้

นายโชคชัย ธนเมธี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เปิดเผยนโยบายรัฐที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ว่า ขณะนี้ได้ปรับปรุงท่าเทียบเรือมาบตาพุด และพื้นที่บรรจุก๊าซ LNG เพื่อรองรับการขนส่ง LNG ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ให้บริการแก่ลูกค้าในการบรรจุ LNG หรือ Reload ทั้งการนำเข้า LNG แล้วจำหน่ายต่อลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub)

ตามแผนของกระทรวงพลังงานคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ ในช่วงไตรมาส 1/2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering)

นายโชคชัยกล่าวว่า สำหรับท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย Map Ta Phut LNG Terminal สามารถรับเรือขนส่ง LNG ขนาด 125,000-284,000 ลูกบาศก์เมตร การปรับปรุงเพื่อ Reload ก็จะทำให้ขนส่งทางเรือเล็ก 60,000 ลูกบาศก์เมตร และขนส่งทางรถยนต์ 20,000 ลูกบาศก์เมตร โดยสถานีแห่งนี้มีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 11.5 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,610 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยผู้ใช้บริการรายแรกคือ บมจ.ปตท. มีสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวแล้ว 5.2 ล้านตัน /ปี และรายที่ 2 คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการนำเข้าแล้วในสัญญาตลาดจร (SPOT) ลำแรก 65,000 ตัน และลำที่ 2 จะนำเข้าเดือนเมษายนนี้อีก 65,000 ตัน

ส่วนความคืบหน้าท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งที้ 2 สถานีหนองแฟบลงทุนรวม 3.85 หมื่นล้านบาท ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าราว 40% และจะเสร็จเปิดให้บริการตามแผนกลางปี 2565 โดยมีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 7.5 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,050 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ ราว 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปัจจุบัน 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันมาจากอ่าวไทย อีก 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันมาจากพม่า ซึ่งก๊าซจากพม่าและอ่าวไทยมีปริมาณค่อยๆ ลดลง ทำให้ไทยต้องวางแผนนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น เป้าหมายแรกคือการใช้เองในประเทศ และกำลังวางแผนเป็น Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น