กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเวทีถกภาคเอกชน รัฐ และผู้นำชุมชนระดับจังหวัด ประเดิมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ก่อนขยายผลสู่ภาคอื่นๆ หวังนำความเห็นมายกระดับเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพรับงบปี 2563 หลังปีงบ 62 สร้างมูลค่าศก.กว่า 15,000 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2563 กสอ.มีเป้าหมายต่อยอดการเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจชุมชน จึงได้ประชุมหารือและระดมความเห็นขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ซึ่งร่วมกับภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน 4 จังหวัด (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร) เป็นต้น เพื่อที่จะหาแนวทางในการพัฒนา พร้อมทั้งให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ จัดการประชุมหารือให้ครบทุกภูมิภาคโดยเร็ว สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการหารือร่วมกับประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีในเร็วๆ นี้เช่นกัน
"ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 60,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 3,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 15,000 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2563 กสอ.ยังจะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากพื้นที่ไปดำเนินการจัดทำมาตรการโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อๆ ไป ได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายณัฐพลกล่าว
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมหารือครั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะให้ กสอ.เน้นการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ โดยให้ภาคเอกชนสามารถใช้พื้นที่สำหรับงานวิจัยต่างๆ และร่วมกันต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการฝึกงานด้วย ขณะเดียวกัน อยากให้มีการส่งเสริมและต่อยอดผลงานของนักศึกษาที่ชนะการประกวดจากโครงการต่างๆ ของ กสอ.ให้สามารถพัฒนามาสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง การส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มการทำตลาดออนไลน์และระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเสนอให้มีการเพิ่มข้อจำกัดและคุณสมบัติในการนำเงินทุนไปใช้ในการประกอบธุรกิจให้กว้างขึ้น และการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติการกู้เงินให้มีความรวดเร็ว