“กสอ.” เตรียมอัดงบปี 63 กว่า 800 ล้านบาท ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี 3 ด้าน มุ่งปั้น-ปรุง-เปลี่ยนเอสเอ็มอีให้ดีพร้อม ตั้งเป้า 2,200 กิจการ 9,600 ผลิตภัณฑ์ 70 กลุ่ม คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ Department of Industrial Promotion - DIProm เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2563 ที่คาดว่า กสอ.จะได้รับจัดสรรงบประมาณราวกว่า 800 ล้านบาท กสอ.จึงได้วางแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจชุมชนภายใต้สโลแกน “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm) วางเป้าหมายพัฒนา 2,200 กิจการ 9,600 ผลิตภัณฑ์ 70 กลุ่ม คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับแนวทางได้แก่ ปั้น เอสเอ็มอีจะกำหนดไว้ 3 มิติ “ก - ส - อ” ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการเร่งด่วน 3 ด้าน ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ 1. ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม (ก) โดยเน้นการพัฒนาภาคการเกษตรจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยการจัดการและเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจเกษตร รวมถึงการปั้นธุรกิจเอสเอ็มอีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ยังขาดแคลน แปรรูปการเกษตรในทุกภูมิภาคผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ มีการเชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำไปจนถึงผู้ผลิตกลางน้ำ เป็นต้น
2. ปั้นเอสเอ็มอีให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ (ส) โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างระบบฝึกงานให้นักศึกษาในภาคการศึกษาปกติ โดยที่นักศึกษาสามารถได้หน่วยกิตและผลการเรียนจากการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งจะเป็นการสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Entrepreneur) ให้นักศึกษาไปในตัว
3. ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ (อ) โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ดิจิทัลแอพพลิเคชั่นที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ โดยได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฐานข้อมูลของ DEPA ฐานข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและลูกค้าของ กสอ. และคัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 บริษัท โดยระบบซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันที่ให้บริการนั้น เป็นรูปแบบ Cloud Based และจะให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ฟรีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ฯลฯ
ส่วนการ “ปรุง” มาตรการและโครงการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งรัฐและเอกชน และผู้นำพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อกระจายการส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ตอบสนองความต้องการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้าน CIV เพื่อสร้างรายได้เสริมและเชื่อมโยงระบบท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น
การ “เปลี่ยน” คือ เปลี่ยนวิธีดำเนินงานโดยปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในกรมฯ เพื่อรองรับการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายเร่งด่วนของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และจะปรับเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเน้นการบริการที่รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมงานกับ กสอ. ลงทะเบียนเป็นสมาชิกด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ i-Industry Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นยิ่งขึ้น