xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าแรง 5-6 บาท/วัน ของขวัญฉบับพอเพียง ลูกจ้างโอดน้อยไป-นายจ้างไม่แฮปปี้ ชี้ซ้ำเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับถอยหลังกันแล้วเพื่ออำลาปี 2562 และต้อนรับปีใหม่ (2563) ซึ่งขณะนี้อาจทำให้ใครหลายคนกำลังจับจ่ายเพื่อหาของขวัญชิ้นพิเศษมอบแก่คนที่รัก มิตรสหาย ลูกค้า ฯลฯ แต่สำหรับบรรดาลูกจ้างทั้งหลายแล้วของขวัญที่ต้องเฝ้าลุ้นกันทุกปีเห็นทีจะหนีไม่พ้นคือโบนัสประจำปี แต่ส่งท้ายปีนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศของขวัญมอบให้แรงงานโดยหนึ่งในของขวัญชิ้นพิเศษคือ “การขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-6 บาทต่อวันที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563”


ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวเป็นการเคาะจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ซึ่งได้มีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ โดยเดิมทีนั้นมีการเสนอตัวเลขการปรับขึ้นที่ 2-10 บาทต่อวัน ต่อมามีการหารืออีกครั้งซึ่งฝ่ายนายจ้างได้เสนอว่าปี 2562 มีแรงกดดันจากการส่งออกที่ถดถอยและอาจยังต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 จึงไม่ควรจะปรับขึ้นตามตัวเลขเดิมที่เคยเสนอกันมาที่ 2-10 บาทต่อวัน และมีการเสนอตัวเลขกันที่ 8 บาทต่อวัน และมาสรุปเคาะกันที่ตัวเลข 5-6 บาทต่อวัน

โดยเป็นการปรับขึ้น 6 บาทใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือได้รับการปรับขึ้นในอัตรา 5 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ โดยค่าจ้างขั้นต่ำ แบ่งได้ 10 กลุ่ม (ดูตาราง) โดยกลุ่มที่มีอัตราสูงสุด คือ ชลบุรี กับภูเก็ต อยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ส่วนอัตราต่ำสุด คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา อยู่ที่ 313 บาทต่อวัน

หลังจากที่บอร์ดค่าจ้างได้เคาะอัตราดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เสียงระงมทั้งลูกจ้างและนายจ้าง โดยลูกจ้างดูจะไม่พอใจอย่างแรงด้วยเพราะอาจจะตั้งความคาดหวังกับรัฐบาลไว้สูง เนื่องจากไม่อาจปฏิเสธได้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีการหาเสียงของพรรครัฐบาลเอาไว้ว่าค่าแรงจะก้าวไปสู่ระดับสูงถึง 425 บาทต่อวัน


“รัฐบาลเคยสัญญากับประชาชนตอนหาเสียง มีนโยบายสวยหรูว่าจะปรับค่าจ้างเป็น 425 บาท เมื่อความเป็นจริงเป็นแบบนี้ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมปรับค่าจ้างครั้งนี้จึงไม่ใช่ 425 บาทตามที่หาเสียงไว้ หรือว่าครั้งนี้เอาไปแค่นี้ก่อน ที่เหลือจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได ภายใน 4 ปีจะได้เท่าไหร่ ต้องอธิบายให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานเข้าใจ แม้การปรับ 425 บาทมันมากเกินจะทำได้ แต่ในเมื่อเสนอนโยบายออกมาแสดงว่ามีวิธีคิดไว้แล้วว่าทำได้ อย่าเอาแต่พูดสวยหรู ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรพูด จะเป็นการโกหกประชาชน” นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวอย่างผิดหวัง

เขายังระบุว่า การปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวคิดเป็นเพียง 2% ซึ่งลูกจ้างซื้อบะหมี่สำเร็จรูปได้เพียงห่อเดียวเท่านั้น จะให้ภาคแรงงานพอใจและโห่ร้องไชโยได้อย่างไรกัน เพราะมันร้องไม่ออก ทุกวันนี้ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ขึ้นราคาไปหมดแล้ว มีเงินในกระเป๋า 500 บาท ซื้อของได้ไม่กี่อย่าง คสรท.เคยทำข้อมูลค่าครองชีพมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงวันนี้จะอยู่รอดยุคข้าวของแพงต้องมีรายได้เดือนละ 1.8 หมื่นบาทขึ้นไป องค์กรที่มีมาตรฐานก็วิเคราะห์ไว้ที่เดือนละ 2 หมื่นต้นๆ ขึ้นไป เฉลี่ยวันละ 600-700 บาท

หันมาฟังเสียงฟากของนายจ้างบ้าง เริ่มที่ นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นครั้งนี้ถือว่ามาในจังหวะที่ไม่ดีเพราะเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาการส่งออกที่ถดถอยจากภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และไหนรายได้ส่งออกยังลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้หลายอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวะขาดทุน เริ่มเห็นมีการปิดกิจการกันบ้างแล้ว การขึ้นค่าแรงจึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เข้าไปอีก และอัตราที่มองว่าควรจะขึ้นน่าจะอยู่ที่เพียง 3-3.50 บาทต่อวันเท่านั้น

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองผ่านความเห็นส่วนตัวอัตราที่ขึ้น 5-6 บาทต่อวันเฉลี่ยก็ปรับขึ้นเดือนละ 180 บาทก็ถือว่าเป็นอัตราที่พอรับได้ในภาพรวม แต่บังเอิญที่โชคไม่ดีที่เศรษฐกิจไทยเป็นช่วงจังหวะที่เผชิญกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและอาจจะประสบปัญหาต่อไปถึงปี 2563 ดังนั้นหลายคนจึงมองว่าจะเป็นการซ้ำเติม แต่ทั้งนี้หากมองในแง่ของกลไกการพิจารณาที่ผ่านระบบไตรภาคีและที่สุดรัฐเองก็ไม่ได้ปรับมากเท่าที่ได้หาเสียงไว้ก็ถือว่าการเมืองไม่ได้มาแทรกแซงและทำให้กลไกไตรภาคียังคงทำงานได้ดีอยู่ จุดนี้มองในแง่ดีก็ถือว่าดี

“มันอาจเป็นจังหวะที่ไม่ดีนักท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตแบบชะลอตัว ซึ่งผมเองไม่อยากให้รัฐไปบอกว่าเป็นของขวัญอะไรเพราะนี่เป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องจ่ายเงิน และผมคิดว่าการนำเอานโยบายขึ้นค่าแรงไปหาเสียงต่อไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น่าจะดูให้มากขึ้นในกติกานี้” นายธนิตระบุ

ขณะที่ความเห็นของ นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาชิกเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณแสนกว่ารายและส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก (ไมโคร) มีแรงงาน 10-50 คน การขึ้นค่าแรงอีก 5-6 บาทต่อวันย่อมกระทบเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ก็ต้องประคับประคองให้อยู่รอดท่ามกลางกำลังซื้อที่ไม่ดีนัก หากมีพนักงานออกก็ไม่รับเพิ่ม หลายรายได้มีการปรับตัว เช่น กรณีการทำตลาดออนไลน์ก็จะใช้ฟรีแลนซ์แทนจ้างลูกจ้างเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น

“เศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ปี 2560 เราคาดหวังว่าปี 2562 จะดีแต่ก็ไม่ดีอย่างที่คาดไว้ และในปี 2563 ก็ยังคงกังวลว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเงินบาทเองก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าก็จะกระทบต่อส่งออก ที่ผ่านมารัฐเองก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ช่วยได้ระยะสั้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย” น.ส.โชนรังสีกล่าว


เสียงสะท้อนนายจ้าง และลูกจ้างเป็นเรื่องธรรมชาติที่มักจะสวนทางกัน ซึ่งก็เข้าใจว่าลูกจ้างที่เป็นผู้ใช้แรงงานท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงก็ย่อมต้องเรียกร้องให้ได้ค่าแรงที่มากไว้ก่อน แต่หากย้อนดูแล้วการปรับขึ้น 5-6 บาทต่อวันถือเป็นการประกาศที่ล่าช้ามานับเป็นปีเพราะที่ผ่านมามักจะประกาศขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. และในเดือน พ.ค. 62 นั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างแต่อย่างใด การมาเคาะปรับขึ้นในช่วงปลายปีและไปมีผลปี 2563 ก็ถือว่าปี 2562 ค้าจ้างคงเดิมนั่นเอง

ขณะเดียวกัน หากมองอีกมุม ซึ่งนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังชี้ให้เห็นว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาไอแอลโอ และมองว่าอัตราที่ขึ้นครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนักต่อกิจการ เพราะคำนวณแล้วจ่ายต่อเดือนไม่มาก แต่กรณีเพิ่มในอัตรา 5 บาทนั้นถือว่าเหนือความคาดหมาย เพราะเคยคิดว่าจะมีการปรับเพิ่มเพียง 2-3 บาท เมื่อเพิ่มมา 5 บาทถือว่าเป็นโบนัสให้คนทำงาน ส่วนผลกระทบต่อนายจ้างอาจจะมีผลบ้างโดยเฉพาะกับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางที่กำลังปริ่มน้ำ มีการใช้แรงงาน 50-60 คนขึ้นไป จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้มีกระแสการเงินที่ดีขึ้น

เรียกว่างานหนักที่จะต้องเร่งเข็นมาตรการดูแลเอสเอ็มอีในปี 2563 คงต้องมาแบบจัดเต็ม และความหวังนี้คงต้องฝากไว้ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล …ควบคู่ไปกับการที่พาณิชย์ต้องเร่งดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยอ้างขึ้นค่าแรงป้องกันการซ้ำเติมค่าครองชีพของแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศด้วย เพราะแม้กระทรวงพาณิชย์จะมีการวิเคราะห์แล้วว่าส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าน้อยมาก เฉลี่ยเพียง 0.006-0.6% เท่านั้น แต่ราคาอาหารที่ผ่านมาทางปฏิบัติมักปรับขึ้นกันตลอด

ดังนั้น หากประเมินทิศทางค่าแรงที่ปรับขึ้นครั้งนี้ย่อมมีทั้งดีและไม่ดี แต่แน่นอนว่า คณะกรรมการไตรภาคีได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเรียกว่าเดินสายกลางท่ามกลางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แม้ว่า “ของขวัญ” ที่รัฐพยายามให้ครั้งนี้อาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่ก็ถือว่าเป็นของขวัญที่เป็นแบบฉบับพอเพียงไม่น้อยและไม่มากจนเกินงาม…ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ก็ยังรอให้ทุกส่วนยังต้องตั้งท่ารับมือกันต่อไป หวังว่าอนาคตทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะยกระดับธุรกิจ ฝีมือแรงงานเพื่อก้าวข้ามผ่านค่าแรงขั้นต่ำนี้ไปให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น