บอร์ดค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 6 บาท ใน 9 จังหวัด เพิ่ม 5 บาท 68 จังหวัด ส่งผลค่าจ้างทั่วประเทศจากเดิม 7 ระดับ เพิ่มเป็น 10 ระดับ สูงสุด 336 บาทที่ ชลบุรีและภูเก็ต ต่ำสุด 313 บาท ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้านระยอง 335 บาท กทม.และปริมณฑล 331 บาท จ่อชง ครม.เห็นชอบให้ทันใช่ 1 ม.ค. 63
วันนี้ (6 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ซึ่งมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีการพิจารณาหารือเรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 โดย นายสุทธิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ อัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 5-6 บาท ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมต่ำสุด 308 บาท สูงสุด 330 บาท ปรับเปลี่ยนเป็น ค่าจ้างต่ำสุด 313 บาท สูงสุดที่ 336 บาท แบ่งออกเป็น 10 ระดับ คือ 313 บาท 315 บาท 320 บาท 323 บาท 324 บาท 325 บาท 330 บาท 331 บาท 335 บาท และ 336 บาท ทั้งนี้ ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 6 บาท ใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วน 68 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 5 บาท ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด ภายใน 17 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563
นายสุทธิ กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางและรอบคอบ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนมาตรการลดผลกระทบนั้น มีกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ได้ดูแลในเรื่องผลกระทบด้วยการประกันการว่างงาน และการเพิ่มทักษะฝีมือให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น เป็นต้น
สำหรับ ค่าจ้างขั้นต่ำ จากเดิมมี 7 ระดับ เมื่อปรับใหม่จึงแบ่งเป็น 10 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและภูเก็ต ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง ระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ระดับที่ 4 ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา ระดับที่ 5 ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี ระดับที่ 6 ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี
ระดับที่ 7 ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม ระดับที่ 8 ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงพิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ ระดับที่ 9 ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ และ ระดับที่ 10 ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ด้าน นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศชาติ ในฐานะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีการปรับในอัตรา 5-6 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับเพิ่มในอัตรา 6 บาท มี 9 จังหวัด คือกรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีอุตสาหกรรม นอกนั้น เป็นจังหวัดทั่วไปได้รับการปรับเพิ่มในอัตรา 5 บาท ซึ่งในการปรับค่าจ้างฯ ครั้งนี้ ลูกจ้างพึงพอใจ และเห็นว่าเป็นอัตราที่พอใจ ที่ไม่กระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการทบทวนตัวเลขที่เคยมีแนวทางปรับ 2-10 บาท นายจ้างท้วงติงว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในขณะนี้ จึงได้เสนอให้ลดลงมาที่อัตรา 6 บาท ส่วนอัตรา 2 บาท ถือว่าน้อยมาก ไข่ฟองเดียวยังซื้อไม่ได้ จึงเพิ่มให้เป็น 5 บาท
“ขณะที่บอร์ดค่าจ้างยังไม่ได้พิจารณาอะไร ก็มีการปิดโรงงานไปก่อนแล้วกว่า 3 พันแห่ง สะท้อนว่ามีปัญหาของการบริหารจัดการ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่เกี่ยวกับการปรับหรือไม่ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างฯ รอบนี้ ในอัตรานี้ จึงเชื่อว่าทุกฝ่ายอยู่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้ก็รับไปก่อน ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการปรับค่าจ้างมา 2 ปี แล้ว” นายสุชาติ กล่าว
นายพิจิตร ดีสุ่ย เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน ประเทศไทย กล่าวว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ เป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำของกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น ซึ่งมีประมาณไม่เกินร้อยละ 30 ของคนทำงาน แต่ในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 9 ม.ค. 2563 จะมีการพิจารณาทบทวนค่าจ้างตามมาตรฐานมือแรงงานเพิ่มเติมด้วย เพราะฉะนั้นอยากให้แรงงานมีการแข่งขัน เพิ่มทักษะของตัวเอง เพื่อให้ได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น