“พาณิชย์” เดินหน้าอำนวยความสะดวกคนต่างด้าวทำธุรกิจในไทย ถกบีโอไอปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มเติม เน้นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หลังปรับออกแล้ว 45 ธุรกิจ กำลังเอาออกอีก 4 ธุรกิจ ยันต่างชาติยังเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่ม แต่ที่ขออนุญาตลดเหตุไปขอตรงกับหน่วยงานอื่นหลังปลดล็อก และขอผ่านบีโอไอ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยให้กับคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม โดยขณะกำลังรอข้อมูลจากบีโอไออยู่ว่าจะให้ปลดธุรกิจไหนบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายแล้ว 45 ธุรกิจ และกำลังจะปรับออกเพิ่มอีก 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม, ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน, ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ สำหรับใบรับรองหน่วยซ่อม ประเภทที่ 2 สำหรับบำรุงรักษาส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่ 3 สำหรับบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยาน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
“การปรับธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้าย ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องมาขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจกับกรมฯ อีก ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในแพกเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยธุรกิจที่ปรับออกส่วนใหญ่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว เช่น ธนาคาร ประกันภัย ก็ให้ไปขออนุญาตที่หน่วยงานตรงเลย หรืออย่างธุรกิจที่ไม่กระทบคนไทย เช่น การตั้งสำนักงานผู้แทน ก็ไม่ต้องมาขอ เป็นต้น และจากนี้ไปกรมฯ จะมีการทบทวนบัญชีแนบท้ายถี่ขึ้น แทนที่จะทบทวนปีละ 1 ครั้งตามที่กฎหมายระบุไว้ เพราะต้องการปรับให้สอดคล้องกับการดึงดูดการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของคนต่างด้าว” นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์การลงทุนของคนต่างด้าวในไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างชาติยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย โดยการเข้ามาลงทุนจะดูแค่การขออนุญาตประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเดียวไม่ได้ โดยตัวเลข 11 เดือนมีจำนวน 193 ราย แม้จะลดลง 23% แต่มูลค่าเงินทุน 22,153 ล้านบาท เพิ่ม 106% และยังต้องดูผ่านช่องทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ซึ่งตัวเลข 9 เดือนมีจำนวน 1,165 โครงการ มูลค่า 314,130 ล้านบาท และเมื่อนักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว ก็ไม่ต้องมาขออนุญาตการประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอีก และที่สำคัญคนต่างด้าวยังมีการขออนุญาตผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอีกด้วย