ผู้จัดการรายวัน360 - “ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ” ฟิตจัด เปิดแผนหลัง ครม. ต่ออายุบริหารอีก 4 เดือน สานต่อภารกิจเดิม เร่งดันนมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์นมแห่งชาติ พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาโคนมให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและยั่งยืน โชว์ผลดำเนินงานรอบ1ปีดันยอดขายทะลุ ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนปี 63 ปรับกลยุทธ์การแข่งเดือดในสมรภูมิอุตสาหกรรมนม วางเป้ายอดขายปี 63 อยู่ที่ 11,130 ล้านบาท
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)กล่าวภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.อ.ส.ค.ต่ออีก4เดือนนับจากวันที่ 13พฤศจิกายน62เป็นต้นไปว่า มีแผนจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนผลักดันอ.ส.ค.และผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์นมแห่งชาติและเป็นก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมนมของอาเซียน รวมไปถึงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาโคนมก้าวสู่อาชีพที่ยั่งยืนมั่นคงยิ่งขึ้น
โดยผลดำเนินการในรอบปีงบประมาณ 2562 สามารถทำยอดจำหน่ายผลิตนมไทย-เดนมาร์ค เป็นมูลค่า ประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือประมาณ 98% ของเป้าหมายที่วางไว้ คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 323 ล้านบาท ส่วนปี 2563 วางเป้าหมายทำยอดขาย 11,130 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดต่างประเทศทำยอดขาย 957 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักในกลุ่มประเทศ AEC แบ่งเป็น สปป.ลาว ได้ยอดขายประมาณ 236 ล้านบาท กัมพูชาประมาณ 651 ล้านบาท และเมียนมาร์ประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนปี 2563 วางเป้าขยายตลาดต่างประเทศเป็น 1,200 ล้านบาทและเตรียมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในตลาดเมียนมาร์และเตรียมเปิดตลาดในจีนและเวียดนาม
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมนมทั้งในประเทศและทั่วโลกขยายอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อ.ส.ค. จึงได้มีการทบทวนแผนวิสาหกิจ 5 ปีของ อ.ส.ค. (ปี2560-2564) เป็นประจำทุกปี เพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเป้าหมายตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นไปตามทิศทางทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทบทวนแผนในปีงบประมาณ 2563นั้น ยังคงให้ความสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมโคนมครบวงจรของ อ.ส.ค. รวมทั้งผลักดันนมไทย-เดนมาร์คก้าวสู่นมแห่งชาติภายในปี 2564 (Being National Milk by 2021) ให้เป็นผลสำเร็จ รวมทั้งสืบทอดองค์ความรู้และสร้างความสุขแก่เกษตรกรโคนมไทยให้ดำรงอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการสรรค์สร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโคนม
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำความเข้มแข็งให้แบรนด์นมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์อันดับที่ 1 ในใจผู้บริโภคชาวไทย (Top of Mind ) เมื่อไม่นานมานี้ ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คได้รับรางวัลจาก " Amarin Baby and Kids Awards 2019 " ซึ่งนม UHT ไทย-เดนมาร์ค ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดแบรนด์สินค้าในดวงใจคุณแม่ จากคะแนนโหวตของคุณแม่ทั่วประเทศกว่า 10,000 คน ด้วยหวังเป็นสื่อกลางข้อมูล คุณภาพ จากแม่สู่แม่ (Mom to Mom Sharing )
ก่อนหน้านั้นยังได้รับรางวัล “Top Rising Brands (Kantar Brand Footprint Award 2019-Thailand) ในหมวด Dairy เป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตสูงสุดในกลุ่มผู้บริโภค โดยรางวัลดังกล่าวถูกจัดลำดับโดยบริษัท กันตาร์ เวิล์ดพาแนล (Kantar Worldpanel) โดยรางวัลที่ได้กล่าวมาข้างต้นถือเป็นการตอกย้ำว่า นมไทย-เดนมาร์คเป็นแบรนด์นมที่พร้อมจะส่งมอบคุณค่าให้คนไทยมีสุขภาพดีด้วยผลิตภัณฑ์จากนมโคสดแท้100% ของเกษตรกรไทยให้อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไปด้วยมาตรฐานอุตสาหกรรมโคนมไทยระดับสากล และเป็นแบรนด์เดียวที่คนไทยมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโคนมไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่อาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทย รวมทั้งผลักดันโครงการ พัฒนาเกษตรกรโคนมสู่ Smart Farmer (DPO - SmartFarmer) การพัฒนาฟาร์มเกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการจัดการฟาร์ม เช่น ใช้งาน Application, DIP, ไบไอเทคโนโลยี, Sexig และพัฒนาฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม (GAP)
ส่วนด้านการตลาด ทาง อ.ส.ค.ก็มีการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและรองรับตลาดต่างประเทศ ครอบคลุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนบริหารตัวแทนจำหน่าย การพัฒนาช่องทางจาหน่ายให้ง่ายต่อการเข้าถึง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูง การจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ การสร้างนวัตกรรม เพื่อการบริการที่มีคุณค่าเหนือความคาดหมาย การเร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ มีแผนจัดตั้งสถาบัน เพื่อการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมนมครบวงจรแห่งชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรโคนมไทยให้มีความเข้มแข็ง อาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าและมีมาตรฐานสูง มีการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญอันยาวนานของ อ.ส.ค.เพื่อพัฒนาเป็นคลังความรู้ด้านอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทยเพื่อสืบทอดแก่คนไทยต่อไป