ปตท.-บีไอจีร่วมวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างหน่วยแยกอากาศที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แห่งแรกในประเทศไทยในนามบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด มูลค่าการลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมมากถึง 450,000 ตันต่อปี ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างหน่วยแยกอากาศ (Air Separation Unit : ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งแรกในประเทศไทย ในนามบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบีไอจี (BIG) และ ปตท. เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซในโรงงานอุตสาหกรรม สนับสนุนกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญด้วยนวัตกรรม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่จะยังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการหน่วยแยกอากาศที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นความร่วมมือในการศึกษาต่อยอดนวัตกรรมระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) เพื่อนำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะของ LNG ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันพลังงานความเย็นนี้ถูกปล่อยไปกับน้ำทะเล โครงการ ASU นี้จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นลงสู่ทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง พร้อมสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
นายศักดิ์เฉลิม สิทธิวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (เอ็มเอพี) กล่าวว่า โครงการหน่วยแยกอากาศที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว ณ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองนี้มีมูลค่าลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมมากถึง 450,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเป็นหน่วยแยกอากาศแห่งแรกของประเทศไทยที่นำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะ LNG มาใช้ ซึ่งจะสามารถผลิตก๊าซอุตสาหกรรม เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับไนโตรเจนที่ผลิตได้จากหน่วยแยกอากาศนี้ สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมในการรักษาคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ก่อนที่จะนำไปเก็บในห้องเย็น ยืดเวลาการเก็บรักษาผลไม้ให้นานขึ้นและมีคุณภาพที่ดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกร และมุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้โลกต่อไป