“วีรศักดิ์” ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ “แห้วสุพรรณ” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เผยมีผู้ประกอบการผ่านการตรวจประเมิน 37 ราย เตรียมช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนต่อไป
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าแห้วสุพรรณ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2560 และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยผลมีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีรสชาติหวาน มันเนื้อแน่นกรอบสีขาว ผลิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันชุมชนสามารถนำมาแปรรูปเมนูทั้งคาว หวานได้หลากหลาย เช่น ทอดมันแห้ว ทับทิมกรอบ ไอศกรีมกะทิแห้ว และยังสามารถผลักดันให้แหล่งผลิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของชุมชน
“จากการลงพื้นที่ พบว่ากลุ่มผู้ผลิตสินค้าแห้วสุพรรณมีการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ และมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ่านการตรวจประเมินและอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 37 ราย ซึ่งตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค”
นอกจากนี้ ยังได้รับทราบปัญหาที่ผู้ผลิตแห้วสุพรรณประสบอยู่ เช่น ปัญหาด้านราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาด้านการตลาด และปัญหาแรงงาน เป็นต้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะรีบดำเนินการแก้ไข ตลอดจนจะให้มีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สินค้าแห้วสุพรรณให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการแห้วสุพรรณในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงจะส่งเสริมและผลักดันให้จังหวัดเฟ้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสุพรรณบุรีเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์ GI ในเชิงพาณิชย์ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูทจำหน่ายสินค้าในงาน GI Market การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และในลำดับต่อไป จะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยองค์ความรู้และการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากนั้นจะเข้ามาช่วยดูแลและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป