ร.ฟ.ท.เปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเชื่อมสนามบิน ต้นแบบความร่วมมือ PPP เน้นความโปร่งใส เป็นสากล ยกระดับความเชื่อมั่นการลงทุน
หลังจากลงนามสัญญากับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผยเอกสารข้อมูลสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนและวิธีการคัดเลือกเอกชน ซึ่งรวมถึงเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมทุนที่มีรายละเอียดจำนวนมาก และเป็นข้อมูลที่หลายคนเรียกร้องอยากเห็น
ความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน สำหรับโครงการให้บริการสาธารณะที่มุ่งหวังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการดำเนินงานที่คุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าให้รัฐดำเนินการเอง เรียกว่า PPP หรือ Public Private Partnership ที่ต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
การเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาครั้งนี้จึงเป็นบรรทัดฐานที่ดี และถือเป็นต้นแบบของ PPP ที่โครงการอื่นๆ ของภาครัฐต้องเดินตาม เพราะจะทำให้กระบวนการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการสื่อสารนโยบาย และให้รายละเอียดของโครงการของรัฐต่อกลุ่มที่ให้ความสนใจหรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ซึ่งเป็นการส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงการทำงานอย่างเป็นสากลของประเทศไทย ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตได้เป็นอย่างดี ประกอบกับคำชื่นชมจากหลายประเทศในการประชุมอาเซียนซัมมิตที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ กับบทบาทสำคัญของประเทศไทยในฐานะประธานการประชุมที่ได้ทำหน้าที่เจ้าบ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้อย่างแยบยล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อไทย ส่งผลถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกอาเซียนให้มีความสดใสมากยิ่งขึ้น
อีกด้านหนึ่ง หากดูที่จำนวนของเอกสารซึ่งมีมากจนไม่สามารถอัพโหลดบนเว็บไซต์ได้ทั้งหมด ก็ยังสะท้อนถึงรายละเอียดปลีกย่อยมหาศาลที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันพิจารณาชนิดข้ามผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมในขั้นตอนของการเจรจาจึงต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะตกผลึกร่วมกันทั้งสองฝ่าย จนนำมาซึ่งการลงนามในที่สุด
เมื่อผ่านขั้นตอนยากในภาคทฤษฎีไปแล้ว จากนี้ก็เหลือเพียงขั้นตอนในภาคปฏิบัติที่เอกชนต้องรับบทหนัก ในการเข็นและปลุกปั้นให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสำเร็จออกมาโลดแล่นได้จริงภายใน 5 ปีนับจากนี้ เพื่อเป็นหัวขบวนนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย เพื่อก้าวพ้นกับดักตามที่ตั้งเป้าไว้
ที่มา : https://www.eeco.or.th/sites/default/files/ข้อมูลสาระสำคัญของวิธีการคัดเลือกเอกชน.pdf