เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 62 เพิ่มขึ้น 0.11% โตต่ำสุดในรอบ 28 เดือน เหตุน้ำมันลงแรง แม้อาหารสดจะเพิ่ม แต่สินค้าทั่วไปทรงตัว ส่วนยอดรวม 10 เดือน เพิ่ม 0.74% คาดทั้งปียังอยู่ในเป้าหมาย ไม่น่าเกิน 0.85% แม้ได้แรงกระตุ้นจากนโยบายประกันรายได้ และชิมช้อปใช้ที่ทำให้เกษตรกรและคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อราคาสินค้า
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค. 2562 เท่ากับ 102.74 สูงขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2561 ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 28 เดือน และยังเป็นการชะลอตัวลงค่อนข้างมากจาก 0.52% และ 0.32% ในเดือน ส.ค. และ ก.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ลดลง 0.16% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับ ต.ค. 2561 และเพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับ ก.ย. 2562 ทำให้เงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.74% และเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่ม 0.53%
“ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 2562 ขยายตัวลดลง มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลง โดยลดลงถึง 11.57% ต่ำสุดในรอบ 43 เดือน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะข้าวสาร ผักสด ผลไม้สด ยังคงเพิ่มขึ้น แต่สินค้าในหมวดอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในระดับที่ทรงตัว”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการประกันรายได้ และมาตรการชิมช้อปใช้ ที่ทำให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ 0.7-1.0% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.85% แต่ถ้าน้ำมันทรงตัวมีโอกาสที่เงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 0.75%
สำหรับเงินเฟ้อทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.85% นั้น มีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.7-3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-31.5% ต่อเหรียญสหรัฐ