xs
xsm
sm
md
lg

“กอบศักดิ์” ลั่นได้ผู้ชนะประมูล 6 โปรเจกต์อีอีซีอย่างช้าต้นปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กอบศักดิ์” เร่งเข็น 6 บิ๊กโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซี 7แสนล้านบาท มั่นใจได้นักลงทุนผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าวทันในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อการันตีโครงการไม่พลิกแม้มีรัฐบาลใหม่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “อีอีซีเดินหน้า เชื่อมโลกให้ไทยแล่น : โอกาสของนักลงทุนไทย” จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วันนี้ (1 ส.ค.) ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อประเทศไทยเป็นประตูทางการค้าสู่เอเชีย (Gateway to Asia) ที่ขยายผลต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยปีนี้มีเป้าหมายจะเร่งผลักดันได้บริษัทเอกชนที่ชนะประมูลโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีทั้ง 6 โครงการให้ทันภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2562 แล้วเสร็จต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อสร้างหลักประกันแก่นักลงทุนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดใหม่

โดยทั้ง 6 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เปิดขายซองเอกสารร่างขอบเขตการประมูล (TOR) แล้ว, โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จะเปิดขาย TOR ในเดือน ต.ค.นี้, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานฯ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) คิดเป็นวงเงินการลงทุนราว 7 แสนล้านบาท ไม่รวมโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุนที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) และใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่เชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน CLMV และเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) ในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนี้ แผนการพัฒนาในระยะ 5 ปีแรกจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรมเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd และจะต้องมีการพัฒนาบุคลากร และการศึกษา เพื่อรองรับแนวทางการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรจึงถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอได้วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าปกติของการลงทุนที่ผ่านมาซึ่งจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ

การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้ และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาอีอีซี เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการพัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ความพร้อมของภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อนโยบายการลงทุนของประเทศ โดยการยกระดับภาคการผลิตในด้านต่างๆ ทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงยกระดับคุณภาพแรงงานให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมั่นว่านโยบายการพัฒนาอีอีซีจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยมากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยมีความพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อโครงการดังกล่าวในอีอีซี


กำลังโหลดความคิดเห็น